แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา เมื่อนับถึงวันยื่นฎีกาเป็นเวลาเกินกว่า 6 เดือน หากศาลฎีกามีคำพิพากษายืนก็อาจมีผลทำให้จำเลยต้องถูกลงโทษด้วยการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เกินกว่า 6 เดือน ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี มิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าไม่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 216 หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นบังคับคดีตามคำพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นโดยขอให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้วจำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท (ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90) แต่ความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 (ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนัก) มีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ประกอบ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาประการแรกว่า การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษาซึ่งเมื่อนับถึงวันยื่นฎีกานี้เป็นเวลาเกินกว่า 6 เดือน แล้ว ดังนั้นหากศาลฎีกามีคำพิพากษาในประเด็นนี้ยืนตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองก็อาจมีผลทำให้จำเลยต้องถูกลงโทษด้วยการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เกินกว่า 6 เดือน ซึ่งอาจจะมีปัญหาในข้อกฎหมายตามมาว่า พ้นเวลาที่จะให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือไม่นั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ซึ่งมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่พิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ว่าไม่ถูกต้องแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 216 หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นบังคับคดีตามคำพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นโดยขอให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้วจำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.