คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือซึ่งบิดาโจทก์ในฐานะทายาททำให้ผู้จัดการมรดกไว้มีข้อความว่าผู้จัดการมรดกตกลงยกปั๊มน้ำมันซึ่งลงทุนก่อสร้างด้วยทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกให้เป็นสิทธิดำเนินการของบิดาโจทก์และจะได้โอนสิทธิการเช่าที่ดินที่ตั้งปั๊มน้ำมันให้แก่บิดาโจทก์ด้วยบิดาโจทก์พอใจทรัพย์สินที่ได้รับส่วนแบ่ง และไม่ติดใจจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไปขอสละสิทธิส่วนของมรดกทุกอย่าง ดังนี้ เมื่อบิดาโจทก์เข้าดำเนินกิจการปั๊มน้ำมันแล้ว แม้จะไม่มีการโอนสิทธิการเช่าที่ดินก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสาระสำคัญข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันคู่สัญญา และเป็นการประนีประนอมยอมความในการแบ่งปันทรัพย์มรดกย่อมมีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850,852 และ 1750 โจทก์ผู้เป็นทายาทของบิดาโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสตางค์ สงวนพงษ์ เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2511 มีทายาทคือนางลำจวน ภริยา และบุตรอีก 6 คน รวมทั้งนายไพโรจน์และนายไพบูลย์บิดาโจทก์ เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกหลังจากแบ่งสินสมรสกับนางลำจวนแล้ว เป็นเงินประมาณ 13,066,667 บาท ซึ่งจะตกได้แก่นายไพบูลย์บิดาโจทก์ 1 ใน 7 ส่วน คิดเป็นเงินประมาณ1,866,666 บาท ต่อมานายไพบูลย์ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2523 มรดกดังกล่าวจึงตกได้แก่โจทก์ทั้งสาม แต่นายไพโรจน์ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ได้จัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท และในปีพ.ศ. 2524 นายไพโรจน์ถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสองได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมแบ่งขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์คิดเป็นเงิน 1,866,666 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่านายไพบูลย์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับทายาทอื่นขอรับทรัพย์มรดกไปครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกอีก
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังจากนายสตางค์เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว นายไพบูลย์ได้ทำหนังสือให้ไว้แก่นายไพโรจน์ ในฐานะผู้จัดการมรดกตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมีข้อความว่า ‘……..ข้อ 1 เนื่องจากข้าพเจ้านายไพบูลย์ สงวนพงษ์ มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกและทรัพย์สินอื่นๆ ของนายสตางค์ สงวนพงษ์ ตามกฎหมาย แต่เนื่องด้วยนายไพโรจน์ สงวนพงษ์ ผู้จัดการมรดกได้นำเงินทรัพย์สินมรดกของนายสตางค์ สงวนพงษ์ ไปลงทุนก่อสร้างปั๊มน้ำมันซัมมิท ….. และได้เช่าที่ดินของนางลาภ กระแส ตั้งปั๊มน้ำมันดังกล่าวขึ้น บัดนี้ปั๊มน้ำมันนี้ได้จัดจำหน่ายน้ำมันแล้วนายไพโรจน์ สงวนพงษ์ ผู้จัดการมรดกตกลงยกปั๊มน้ำมันนี้ให้เป็นสิทธิดำเนินการหรือเป็นเจ้าของให้แก่นายไพบูลย์ สงวนพงษ์ และจะได้จัดการโอนสิทธิการเช่าที่ดินที่ตั้งปั๊มน้ำมันให้แก่นายไพบูลย์ สงวนพงษ์ ด้วย…….. ข้าพเจ้านายไพบูลย์ สงวนพงษ์ พอใจทรัพย์สินที่ได้รับส่วนแบ่งนี้และไม่ติดใจจะเรียกร้องหรือเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของนายสตางค์ สงวนพงษ์ อีกต่อไป ขอสละสิทธิส่วนของมรดกทุกอย่าง……..’ซึ่งนายไพบูลย์ได้เข้าดำเนินกิจการปั๊มน้ำมันเป็นของตนเองอยู่ประมาณ 3 ปีจึงเลิกโดยยังไม่ได้มีการโอนสิทธิการเช่าที่ดิน ศาลฎีกาเห็นว่าการโอนสิทธิการเช่าไม่ใช่สาระสำคัญของข้อตกลง แม้จะไม่มีการโอนสิทธิการเช่า ก็ยังถือว่านายไพบูลย์เป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และนายไพบูลย์ก็เข้าดำเนินกิจการปั๊มน้ำมันเองแล้ว จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสาระสำคัญ ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 จึงผูกพันคู่สัญญา ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นการประนีประนอมยอมความในการแบ่งปันทรัพย์มรดก ย่อมมีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850,852 และ 1750 โจทก์ผู้เป็นทายาทของนายไพบูลย์ ไม่มีสิทธิเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก
พิพากษายืน.

Share