คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมมีข้อความสำคัญว่า ‘ฯลฯ ข้อ 1 เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตาย บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะพึงมีต่อไปภายหน้าข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมฉบับนี้ ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 2. ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 10197……ตั้งอยู่ตำบลวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานครพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ ส.(โจทก์) แต่ผู้เดียว ข้อ 3. ข้าพเจ้าขอแต่งตั้งให้ ส. (โจทก์)เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าตามพินัยกรรมฉบับนี้และให้เป็นผู้จัดการศพของข้าพเจ้าด้วย’ ข้อความในพินัยกรรมข้อ 1. หมายความว่า เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้วให้บรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่นั้นตกเป็นของโจทก์ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับพินัยกรรมแต่ผู้เดียว รวมทั้งทรัพย์สินตามที่ได้กล่าวไว้ในพินัยกรรมข้อ 2 ด้วย ดังนั้นที่ดินมรดกจึงตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรม
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นอ้างเป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ประเด็นอายุความจึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์และเป็นอันยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะยกขึ้นอ้างหรือโต้แย้งในชั้นฎีกาไม่ได้
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าหากโอนที่ดินไม่ได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนนั้น ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาในชั้นฎีกาจำเลยได้โอนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ฉะนั้น หากจำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ ก็ไม่อาจนำที่ดินนี้ออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้นั้นได้ จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกหากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์เป็นจำนวน 500,000 บาท ตามส่วนของราคาที่ดินพร้อมด้วยดอกเบี้ย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมของนางล้อมซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายผ่อง เมื่อนายพิศถึงแก่ความตาย ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างราคาประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท อันเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน ซึ่งมีนายผ่องรวมอยู่ด้วยโดยได้รับส่วนแบ่งคนละ ๑ ใน ๔ ส่วน ต่อมานายผ่องถึงแก่ความตายจึงต้องแบ่งมรดกของนายพิศส่วนที่ตกแก่นายผ่องดังกล่าวในฐานะเป็นสินสมรสให้นางล้อม ๑ ใน ๓ ส่วน และส่วนที่เหลือซึ่งเป็นมรดกของนายผ่องตกได้แก่นางล้อมและพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๓ คนโดยนางล้อมได้รบส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งในฐานะภริยา นางล้อม จึงมีส่วนได้รับส่วนแบ่ง ๒ ใน ๓ ส่วนของทรัพย์มรดกที่นายผ่องได้รับจากนายพิศ คิดเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท นางล้อมถึงแก่ความตายโดยทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของนายพิศส่วนที่ตกเป็นของตนให้โจทก์ โจทก์ได้ติดต่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิศให้แพ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามส่วนแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ ดังกล่าวให้แก่โจทก์ ๑ ใน ๔ ส่วน ของเนื้อที่ทั้งหมด พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง หากไม่สามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยใช้เงืน ๕๐๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไป นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยใช้เงินเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์หลอกลวงให้นางล้อมพิมพ์ลายนิ้วมือในพินัยกรรม พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับ นางล้อมไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายผ่อง คดีโจทก์ขาดอายุความ สิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ ไม่ใช่ทรัพย์สินของนายพิศและที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกมีราคาประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น
ระหว่างพิจารณานางกระแสร์ สุดลากา น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของนายพิศและนายผ่องยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ ไม่ใช่มรดกของนายพิศ นางล้อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายผ่อง มรดกของนายพิศส่วนที่นายผ่องได้รับเป็นสินสมรสระหว่างนายผ่องกับนางล้อม เมื่อนายผ่องตายส่วนของนายผ่องตกได้แก่นางล้อมและพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๓ คน และฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ แต่ตามพินัยกรรมที่โจทก์ฟ้องนั้น นางล้อมเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๑๙๒ ให้โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ และไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นางล้อมมีส่วนแบ่ง ๑ ใน ๖ ส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ ทั้งแปลง พินัยกรรมที่นางล้อมยกทรัพย์ให้แก่โจทก์นั้น เป็นการยกทรัพย์มรดกให้ทั้งหมดรวมทั้งส่วนแบ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ เฉพาะที่เป็นส่วนแบ่งของนางล้อมได้ พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานครให้แก่โจทก์ ๑ ใน ๖ ส่วน หากโอนไม่ได้ ให้นาที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน ในกรณีมีการแบ่งเงิน ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ปรากฏว่าจำเลยร่วมถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาอนุญาตให้นายนิพนธ์ สุดลาภา ผู้จัดการมรดกเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยร่วมผู้มรณะ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า นางล้อมมีส่วนแบ่ง ๑ ใน ๖ ส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ แขวงวัดท่าพระ
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ ดังกล่าวมีราคาไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท และการที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ ให้แก่โจทก์ ๑ ใน ๔ ส่วนซึ่งมากกว่าที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีสิทธินั้น เป็นการผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยอันเกิดจากการพิมพ์ผิดมากว่าที่จะมีเจตนาเช่นนั้นสำหรับปัญหาที่ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ จำนวน ๑ ใน ๖ ส่วน ซึ่งเป็นของนางล้อมตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรมหรือไม่นั้น ปรากฏว่าพินัยกรรมที่นางล้อมยกทรัพย์ให้แก่โจทก์นั้น มีข้อความสำคัญกำหนดไว้ดังนี้ คือ ข้อ ๑ เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตาย บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะพึงมีต่อไปในภายหน้า ข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมฉบับนี้ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ ๒. ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๐๑๙๗…… ตั้งอยู่ตำบลวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร พร้อมกับสิ่งปลูกสร้าง ข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่นางสุนันทา อรรถกฤษณ์ (โจทก์) แต่ผู้เดียว ข้อ ๓. ข้าพเจ้าขอแต่งตั้งให้นางสุนันทา อรรถกฤษณ์ เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าตามพินัยกรรมฉบับนี้ และให้เป็นผู้จัดการศพของข้าพเจ้าด้วย เห็นว่าตามพินัยกรรมฉบับนี้ นางล้อมได้ยกทรัพย์ให้แก่โจทก์ผู้เดียว รวมทั้งให้มีหน้าที่จัดการมรดกและจัดการศพด้วย มิได้ให้ผู้ใดมีส่วนได้รับมรดกด้วยเลย จากข้อความในพินัยกรรมข้อ ๑ ที่ว่าเมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตาย ให้บรรดาทรัพย์สินที่มีอยู่และที่จะพึงมีต่อไปในภายหน้าให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ระบุชื่อในพินัยกรรม และผู้ที่ระบุชือให้ได้รับทรัพย์สินตามพินัยกรรมก็มีแต่โจทก์เพียงคนเดียวเท่านั้น ฉะนั้นตามข้อความในพินัยกรรม ข้อ ๑ นั้นย่อมหมายความว่าเมื่อนางล้อมถึงแก่ความตายแล้วให้บรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่นั้นตกเป็นของโจทก์ ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับพินัยกรรมแต่ผู้เดียว รวมทั้งทรัพย์สินตามที่ได้กล่าวไว้ในพินัยกรรมข้อ ๒ นั้นด้วย ดังนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ จำนวน ๑ ใน ๖ ส่วนซึ่งเป็นของนางล้อม จึงตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรมส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ปัญหาข้อนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ แต่พิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.๑ นั้นนางล้อมยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๑๙๗ ให้โจทก์เท่านั้น ไม่มีผลทำให้ที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ ๓๒๑ ตกเป็นของโจทก์ด้วย ซึ่งในชั้นอุทธรณ์จำเลยได้ยกอายุความขึ้นอ้างเป็นประเด็นเพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ฉะนั้นประเด็นเรื่องอายุความจึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ และเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะยกอายุความขึ้นอ้างหรือโต้แย้งในชั้นฎีกาอีกไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าหากจำเลยโอนที่ดินไม่ได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน โดยให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณา
ในชั้นฎีกาจำเลยได้โอนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ฉะนั้น หากจำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ได้ ๑ ใน ๖ ส่วนตามที่โจทก์มีสิทธิและที่ดินแปลงนี้ราคา ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยก็ต้องใช้เงินแก่โจทก์จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาทตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๑ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์มีกรรมสิทธิร่วม ๑ ใน ๖ ส่วนของที่ดินทั้งหมด หากจำเลยไม่สามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ ก็ให้จำเลยรับผิดใช้เงินแก่โจทก์เป็นจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share