แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโจทก์มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนซึ่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีฐานะเป็นบุคคลและเอกสารที่มอบอำนาจดังกล่าวก็ปรากฏว่าโจทก์มอบอำนาจของโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ดังนี้อำนาจของหัวหน้าเขตที่ได้กระทำแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการกระทำของโจทก์เองโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 33กำหนดให้ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในกรณีที่ผู้ว่าฯและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นใดนอกจากการออกตามวาระ การที่ปลัดกรุงเทพมหานครลงนามในคำสั่งมอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้ว่า ฯ ย่อมเป็นการกระทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเมื่อจำเลยไม่สืบหักล้างว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไรจึงต้องถือว่าคำสั่งมอบอำนาจนั้นชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้อง
การฟ้องขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร มิได้สืบเนื่องมาจากมูลความผิดทางอาญาในความผิดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามารับฟังเป็นยุติในคดีแพ่งหาได้ไม่
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522ข้อ 76(4) กำหนดให้ต้องมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกัน กว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร และมีกฎกระทรวง (พ.ศ.2498) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช 2479 ข้อ 21 บังคับมาแต่เดิมแล้วว่า ห้องแถว ตึกแถวให้ทำกว้างไม่น้อยกว่า 350 เซนติเมตรระหว่างผนัง และต้องมีทางคนเข้าออกได้ทั้งข้างหน้ากับข้างหลัง เช่นนี้ หากปรากฏว่าเดิมมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ด้านหลังอาคารพิพาทเต็มเนื้อที่จริง ก็เป็นเรื่องที่ผู้อาศัยแต่เดิมทำผิดกฎหมายมาแต่แรกจำเลยจะอาศัยการกระทำของผู้อื่นที่ผิดกฎหมายมาสวมรอยเพื่อซ่อมแซมหรือดัดแปลงให้เหมือนของเดิมหรือผิดแผกแตกต่างไปบ้างหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยจึงขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว จำเลยต้องรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมนั้นออกไป.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมปกคลุมทางเดินหลังอาคารซึ่งขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างพ.ศ.2522 ข้อ 76 (4) หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ไม่ใช่บุคคลตามกฎหมาย โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนจึงไม่มีอำนาจฟ้องอาคารตามฟ้องเจ้าของเดิมได้ขออนุญาตก่อสร้างมาประมาณ 20 ปีแล้วไม่มีทางเดินหลังอาคารจำเลยได้ซื้อที่ดินและอาคารดังกล่าวจำเลยเห็นว่าอาคารทรุดโทรมจึงได้ตกแต่งใหม่ซึ่งจำเลยสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจำเลยไม่ได้ก่อสร้างอาคารตามฟ้องห้องอื่น ๆบริเวณเดียวกันก็ปรับปรุงเช่นเดียวกับจำเลยหรือมากกว่าแต่โจทก์ไม่ได้จัดการให้รื้อถอนโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตคดีของโจทก์ขาดอายุความโจทก์ไม่มีสิทธิให้จำเลยรื้อถอนห้องน้ำห้องครัวเท่าที่มีอยู่เดิมขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมด้านหลังกว้าง 3 เมตรลึก 2 เมตร สูง 4.50 เมตรออกไปจากอาคารเลขที่ 78/7 ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายกับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 800 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 400บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างเหตุหลายประการว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่าโจทก์มีนายอาทิตย์ กิติศรีวรพันธ์และนายยศพร ใจเพชรมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีฐานะเป็นบุคคลและเอกสารหมาย จ.14 ก็เป็นสำเนาเอกสารราชการมีเจ้าพนักงานรับรองถูกต้องปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าโจทก์มอบอำนาจของโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ.2518 ดังนั้นอำนาจของหัวหน้าเขตพระนครที่ได้กระทำแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการกระทำของโจทก์เองโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยสำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าคำสั่งมอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนายธำรง พัฒนรัฐปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ลงนามแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ได้ลงชื่อมอบอำนาจเองตามเอกสารหมายจ.14 คำสั่งดังกล่าวจึงใช้ไม่ได้ นั้นเห็นว่าตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ.2518 มาตรา 33 ได้กำหนดไว้ว่าให้ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นใดนอกจากการออกตามวาระ ดังนั้นการที่นายธำรง พัฒนรัฐปลัดกรุงเทพมหานครลงนามในคำสั่งเอกสารหมาย จ.14 ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันที่ 17กรกฎาคม 2522 นั้นย่อมเป็นการกระทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมา เมื่อจำเลยไม่สืบหักล้างว่าการที่ปลัดกรุงเทพมหานครลงนามในคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.14 เป็นการไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไรจึงต้องฟังว่าคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.14 ที่ปลัดกรุงเทพมหานครลงนามนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วคำสั่งดังกล่าวจึงใช้บังคับแก่จำเลยได้ฎีกาจำเลยที่ 1 เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าอาคารตามฟ้องไม่มีทางเดินหลังอาคารจะฟังว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารปิดทางเดินไม่ได้ ในคดีอาญาของศาลแขวงพระนครเหนือไม่ปรากฏว่าศาลได้วินิจฉัยถึงเรื่องก่อสร้างปิดทางเดินทั้งคดีดังกล่าวหาใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาไม่จึงต้องนำข้อเท็จจริงตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบในคดีนี้มาวินิจฉัยนั้นเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ปลูกสร้างโดยมิได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการดำเนินคดีดังกล่าวนี้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเริ่มตั้งแต่เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบขณะทำการก่อสร้างว่าทำการก่อสร้างโดยมิได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ระงับการก่อสร้างได้และหากการก่อสร้างไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นได้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็มีอำนาจสั่งให้รื้อถอนได้และหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอน เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้บังคับให้รื้อถอนถ้าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่ามีการก่อสร้างโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่อาจขออนุญาตได้ศาลก็มีอำนาจบังคับให้รื้อถอนได้เช่นนี้จะเห็นได้ว่าการดำเนินคดีดังกล่าวมิได้เนื่องมาจากมูลความผิดทางอาญาในความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 แต่ประการใดเลย ดังนั้นการฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทจึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามารับฟังเป็นยุติในคดีแพ่งคดีนี้หาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 17195/2523ของศาลแขวงพระนครเหนือนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฉะนั้นศาลจึงต้องนำข้อเท็จจริงตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบในคดีนี้มาวินิจฉัยดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกามีข้อที่ควรพิจารณาว่าอาคารพิพาทมีทางเดินหลังอาคารตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่เพียงใดเห็นว่าเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องเว้นทางเดินด้านหลังอาคารไว้ให้กว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตรตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ.2522 ข้อ 76 (4) นั้นมีกฎกระทรวง(พ.ศ.2498) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช 2479 ข้อ 21 บัญญัติบังคับมาแต่เดิมแล้วว่าห้องแถวตึกแถวให้ทำกว้างไม่น้อยกว่า 350 เซนติเมตรระหว่างผนังและต้องมีทางคนเข้าออกได้ทั้งข้างหน้ากับข้างหลังจึงเชื่อได้ว่าขณะที่ขออนุญาตก่อสร้างตึกแถวพิพาทคงต้องมีการเว้นด้านหลังอาคารไว้ตามกฎกระทรวงดังกล่าวมิฉะนั้นผู้ก่อสร้างอาคารคงจะไม่ได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครดังจะเห็นได้จากการเผชิญสืบของศาลชั้นต้นว่าตึกแถวชุดพิพาท 12 ห้องนี้มองจากดาดฟ้าห้องพิพาทเห็นว่าห้องอื่นข้างเคียงต่อเติมเป็นสองชั้นบ้างสามชั้นบ้างเต็มไปหมด ชั้นบนของห้องพิพาทด้านหลังสุดมีสิ่งปลูกสร้างยื่นออกไปเป็นดาดฟ้าพื้นคอนกรีตไม่มีหลังคาความกว้าง 3.50 เมตรเท่าห้องพิพาทความลึกจากแนววงกบประตูหน้าต่างออกไป 1.70 เมตรมีขอบดาดฟ้าเป็นกำแพงสูง 1 เมตรด้านข้างทางทิศตะวันตกอาศัยกำแพงห้องอื่นข้างเคียงซึ่งต่อเติมเป็นห้องมีหลังคาเทลาดสูงประมาณ 2.50 เมตรยื่นออกไปด้านหลังเท่าดาดฟ้าห้องพิพาท ดังนี้เห็นว่าแม้ตึกแถวชุดเดียวกับตึกแถวพิพาทจำนวน 12 ห้องเจ้าของเดิมขออนุญาตก่อสร้างเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2498) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช 2479 จะต้องเว้นที่ว่างหลังอาคารไว้ให้มีทางคนเข้าออกได้ทั้งข้างหน้ากับข้างหลังข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าหลังตึกพิพาทเดิมมีห้องน้ำห้องส้วมห้องครัวปลูกเต็มเนื้อที่ไม่เคยมีทางเดินนั้นเห็นว่าหากมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ด้านหลังอาคารเต็มเนื้อที่จริงก็เป็นเรื่องที่ผู้อยู่อาศัยในอาคารนั้น ๆ ปลูกสร้างต่อเติมกันเอาเองโดยไม่อาจขอรับอนุญาตจากทางราชการได้เพราะเป็นการสร้างสิ่งปกคลุมปิดทางเดินหลังอาคารซึ่งเป็นการผิดกฎหมายมาแต่แรกจำเลยที่ 1 จะอาศัยการกระทำของผู้อื่นที่ผิดกฎหมายมาสวมรอยเพื่อซ่อมแซมหรือดัดแปลงให้เหมือนของเดิมหรือผิดแผกแตกต่างไปบ้างหาได้ไม่ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นคดีฟังได้ว่าการปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองตามฟ้องโจทก์เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ.2522 ข้อ 76 (4) ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้บังคับตามคำขอของโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 400 บาทแทนโจทก์’.