คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 275/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญ และต่างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งจำเลย ก็เป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกับพยานโจทก์ทั้งสอง จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะมาเบิกความปรักปรำจำเลย ส่วนที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความแตกต่างกันในเรื่องที่ขึ้นไปชั้นสองของตัวบ้านพร้อมกันหรือไม่นั้นเป็นข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่ทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองขาดน้ำหนักที่จะรับฟังแต่อย่างใดเมื่อพิจารณาถึงจำนวนเมทแอมเฟตามีนของกลางที่มีจำนวนมาก และมีราคาสูง ตามปกติวิสัยของคนทั่วไปย่อมต้องวางไว้ ข้างตัวเพื่อจะปกป้องได้ทันหากมีเรื่องไม่คาดหมายเกิดขึ้น จึงน่าเชื่อว่าเป็นของจำเลย และจำนวนเมทแอมเฟตามีน ของกลางก็มีมากเกินกว่าจะมีไว้เสพเอง พยานหลักฐานโจทก์ จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลาง ไว้ในครอบครองเพื่อขาย ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดและลงโทษจำคุก 3 ปี นั้น ยังไม่ถูกต้องเพราะตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 3 และมาตรา 10 บัญญัติเพิ่มโทษเฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทางด้านการผลิตนำเข้าส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น แม้ปัญหานี้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธร อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นข้าราชการและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามกฎหมายไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำนวน 1,864 เม็ด น้ำหนัก 177.078 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารเมทแอมเฟตามีนบริสุทธิ์ได้ 39.807 กรัม เป็นการมีไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดไว้ตามกฎหมาย และจำเลยมีอาวุธปืนพกลูกซองขนาด 12 ชนิดประกอบขึ้นเอง ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับไว้ จำนวน 1 กระบอกและกระสุนปืนขนาด 12 จำนวน 2 นัด ซึ่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวสามารถใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายทั้งจำเลยได้เสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวนไม่แน่ชัด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, (7 ทวิ), 13 ทวิ,62, 62 ตรี, 89, 106, 106 ทวิ, 106 ตรี, 116พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข และริบอาวุธปืนจำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนจำนวน 2 นัด ของกลางและลงโทษจำเลยเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีนี้ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89, 62 ตรี, 106 ตรี, 116 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และเนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำคุก 36 ปี ฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 39 ปี ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 1,864 เม็ด คำนวณเป็นน้ำหนักสารเมทแอมเฟตามีนบริสุทธิ์ได้ 39,807 กรัม และจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนจำนวนไม่แน่ชัดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยเพียงข้อเดียวว่าจำเลยกระทำผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีจรูญ ธนสุทธิเวศย์ และจ่าสิบตำรวจไพโรจน์ สากล่ำซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมจับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า จ่าสิบตำรวจไพโรจน์ทราบจากสายลับว่าจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่ายในท้องที่ จึงรายงานให้พันตำรวจตรีจรูญทราบและร่วมกันไปจับจำเลยที่บ้านเกิดเหตุโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจอื่นอีกหลายนายร่วมไปด้วย เมื่อไปถึงจ่าสิบตำรวจไพโรจน์แอบดูที่ร่องวงกบประตูห้อง เห็นจำเลยกำลังเสพเมทแอมเฟตามีน จึงรายงานให้พันตำรวจตรีจรูญทราบแล้วกระแทกประตูห้องจนเปิดออก จำเลยเห็นพยานโจทก์ทั้งสองกับพวกก็ลุกขึ้นพร้อมกับคว้ากระเป๋าเดินทางใบหนึ่งซึ่งวางอยู่ข้างตัวขึ้นมา พยานโจทก์ทั้งสองกับพวกเข้าไปแย่งเอากระเป๋า และจับกุมจำเลยได้ตรวจกระเป๋าใบดังกล่าวแล้วพบกระป๋องแป้งเด็กแคร์ 1 กระป๋อง และสิ่งอื่น ๆ เมื่อเปิดกระป๋องแป้งออกก็พบเมทแอมเฟตามีนบรรจุในซองพลาสติกสีแดง 9 ซอง มีจำนวนทั้งสิ้น 1,864 เม็ด นั้น เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญและต่างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งกระทำการตามหน้าที่และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งจำเลยก็เป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกับพยานโจทก์ทั้งสอง จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะมาเบิกความปรักปรำจำเลย ส่วนที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความแตกต่างกันในเรื่องที่ขึ้นไปชั้นสองของตัวบ้านพร้อมกันหรือไม่และพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความแตกต่างกับบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 เรื่องสายลับรายงานในครั้งแรกว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือไม่ และห้องที่จำเลยถูกจับอยู่ฝั่งซ้ายหรือขวา ล้วนแต่เป็นข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สาระสำคัญไม่ทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองขาดน้ำหนักที่จะรับฟังแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเมทแอมเฟตามีนของกลางที่มีจำนวนมาก และมีราคาสูง ตามปกติวิสัยของคนทั่วไปย่อมต้องวางไว้ข้างตัวเพื่อจะปกป้องได้ทันหากมีเรื่องไม่คาดหมายเกิดขึ้น จึงน่าเชื่อว่าเป็นของจำเลย และจำนวนของเมทแอมเฟตามีนของกลางก็มีมากเกินกว่าจะมีไว้เสพเองพยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขาย ส่วนที่จำเลยนำสืบปฏิเสธโดยอ้างว่า เมทแอมเฟตามีนเป็นของนายอ้วนซึ่งวิ่งหนีออกจากห้องในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจอยู่ชั้นล่างของตัวบ้านก็เป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุผล เพราะหากเป็นเช่นนั้นนายอ้วนก็คงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับไว้เป็นแน่พยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ และที่จำเลยฎีกาว่า พันตำรวจตรีจรูญและจ่าสิบตำรวจไพโรจน์เบิกความแตกต่างกันในเรื่องที่เมื่อพบของกลางทั้งหมดแล้วจำเลยรับหรือไม่ว่าเป็นของจำเลยนั้นเห็นว่า ขณะนั้นจำเลยเพิ่งเสพเมทแอมเฟตามีนมีอาการมึนเมาการตอบคำถามพยานโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้ความว่า เป็นการตอบคนใดในเวลาใด ระยะเวลาที่ตอบห่างกันเท่าใด จึงเป็นไปได้ที่จำเลยจะตอบปฏิเสธกับจ่าสิบตำรวจไพโรจน์และตอบรับกับพันตรวจตรีจรูญในเวลาต่อมา จึงไม่ทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองขาดน้ำหนักแต่อย่างใด ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดและลงโทษจำคุก 3 ปี นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และมาตรา 10 บัญญัติเพิ่มโทษเฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทางด้านการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น แม้ปัญหานี้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 37 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share