คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3524/2530

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

ตามระเบียบสำหรับพนักงานของโจทก์ เงินบำเหน็จพิเศษไม่มีลักษณะเป็นกองทุนเพราะมิได้มีการจัดตั้งกองทุน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นการจ่ายสมทบเนื่องจากมิได้มีการหักเงินเดือนจากพนักงานมาสมทบ แต่เงินบำเหน็จพิเศษนี้ก็เป็นเงินที่โจทก์ยังมิได้จ่ายให้แก่พนักงานเพราะมีระเบียบห้ามมิให้พนักงานถอนเงินจำนวนนี้ในระหว่างที่เป็นพนักงานอยู่ การบันทึกโอนเงินจากบัญชีสำรองจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษเมื่อครบ 6 เดือน มาเข้าบัญชีเงินประกันตัวพนักงานและบันทึกโอนต่อเข้าบัญชีเงินฝากประจำของพนักงานจึงมีผลเท่ากับเป็นการตั้งบัญชีสำรองจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษไว้โดยมิได้มีการจ่ายจริง เงินบำเหน็จพิเศษจึงมีลักษณะเป็นเงินสำรองต่าง ๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(1) ซึ่งบัญญัติมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
เมื่อคำบรรยายฟ้องของโจทก์ ได้ขอให้ศาลพิจารณางดหรือลดเงินเพิ่มไว้แล้ว ถึงแม้จะมิได้นำมากล่าวในคำขอท้ายฟ้องอีก ก็ถือได้ว่าโจทก์ขอให้ศาลงดหรือลดเงินเพิ่มด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยได้ออกหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1037/2/03931แจ้งว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2522 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2522 โจทก์ได้นำรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา65 ทวิ, 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาเป็นรายจ่ายเป็นจำนวนเงิน36,984,480.07 บาท คิดเป็นเงินภาษีที่จะต้องชำระ 132,300,844.09บาท แต่โจทก์ชำระภาษีไว้แล้ว 121,205,500.15 บาท จึงให้โจทก์นำเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 11,095,344.05 บาท กับเงินเพิ่ม2,219,068.81 บาท รวมเป็นเงิน 13,314,412.86 บาท ไปชำระ โจทก์เห็นว่าเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อเท็จจริงโจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งเฉพาะรายการดังกล่าว หรือมิฉะนั้นก็ขอให้งดหรือลดเงินเพิ่ม แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ทั้งไม่ผ่อนผันงดหรือลดเงินเพิ่มขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินตามหนังสือเลขที่1037/2/03931 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2525 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ภส.7เลขที่ 100/2526 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2526
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม และเงินเพิ่มรวม 5,405,156.39 บาทและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้นชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่าโจทก์ออกระเบียบสำหรับพนักงาน2 ฉบับคือ ระเบียบว่าด้วยเงินบำเหน็จพิเศษ พ.ศ. 2513 และระเบียบว่าด้วยหลักประกันตัวพนักงาน พ.ศ. 2520 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3และ ล.4 ตามระเบียบทั้งสองฉบับดังกล่าว กำหนดให้จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษแก่พนักงาน และขณะเดียวกันก็กำหนดให้พนักงานมีประกันเพื่อชดใช้ความเสียหายที่จะเกิดแก่โจทก์ ทั้งนี้โดยคิดเป็นร้อยละของเงินเดือนตามระยะเวลาของการทำงานอย่างเดียวกันจำนวนเงินบำเหน็จพิเศษและจำนวนเงินประกันตัวพนักงานเท่ากันการจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษมิได้จ่ายเป็นเงินสดให้แก่พนักงานแต่จ่ายโดยวิธีลงบัญชีสำรองจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษไว้ทุกเดือนเมื่อครบ 6 เดือน ก็บันทึกโอนเงินบำเหน็จพิเศษเข้าบัญชีเงินประกันตัวพนักงาน แล้วบันทึกโอนเงินดังกล่าวจากบัญชีประกันตัวพนักงานเข้าบัญชีเงินฝากประจำของพนักงานโดยที่พนักงานจะเบิกเงินนี้ไม่ได้ระหว่างที่ยังเป็นพนักงานอยู่โจทก์ถือว่าเงินบำเหน็จพิเศษนี้เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเด็ดขาดให้แก่พนักงานเช่นเดียวกับเงินเดือน จึงนำมาคิดหักเงินรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ ฝ่ายจำเลยถือว่าโจทก์มิได้จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่พนักงานตามความเป็นจริง จึงถือว่าเป็นเงินกองทุน จะนำมาคิดหักเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ตามมาตรา 65 ตรี (2)
จากที่ได้ความดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เงินบำเหน็จพิเศษจะไม่มีลักษณะเป็นกองทุน เพราะมิได้มีการจัดตั้งกองทุนทั้งไม่มีลักษณะเป็นการจ่ายสมทบ เนื่องจากมิได้มีการหักเงินเดือนจากพนักงานมาสมทบอย่างที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เงินบำเหน็จพิเศษนี้ ก็เป็นเงินที่โจทก์ยังมิได้จ่ายให้แก่พนักงาน เพราะมีระเบียบห้ามมิให้พนักงานถอนเงินจำนวนนี้ในระหว่างที่เป็นพนักงานอยู่ การบันทึกโอนเงินจากบัญชีสำรองจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษ เมื่อครบ 6 เดือนมาเข้าบัญชีเงินประกันตัวพนักงานและบันทึกโอนต่อเข้าบัญชีเงินฝากประจำของพนักงาน จึงมีผลเท่ากับเป็นการตั้งบัญชีสำรองจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษไว้โดยมิได้มีการจ่ายจริงนั่นเองเงินบำเหน็จพิเศษจึงมีลักษณะเป็นเงินสำรองต่าง ๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (1) ซึ่งบัญญัติไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ดังนั้นโจทก์นำเงินบำเหน็จพิเศษมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ ฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนในข้อที่โจทก์ฎีกาขอให้งดหรือลดเงินเพิ่มนั้น ในปัญหาที่ว่าโจทก์จะต้องขอมาในคำขอท้ายฟ้องหรือไม่นั้นเห็นว่าในคำบรรยายฟ้องของโจทก์ตอนท้ายของข้อ 4 โจทก์ได้ขอให้ศาลพิจารณางดหรือลดเงินเพิ่มไว้แล้ว ถึงแม้จะมิได้นำมากล่าวในคำขอท้ายฟ้องอีกก็ถือได้ว่า โจทก์ขอให้ศาลงดหรือลดเงินเพิ่มด้วย ส่วนปัญหาที่ว่า จะงดหรือลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์ออกระเบียบว่าด้วยบำเหน็จพิเศษ และระเบียบว่าด้วยหลักประกันตัวพนักงาน ด้วยวิธีกำหนดให้เงินบำเหน็จพิเศษ และเงินประกันตัวมีจำนวนเท่ากันเพื่อประโยชน์ที่จะอาศัยวิธีการทางบัญชีนำเงินบำเหน็จพิเศษซึ่งมิได้มีการจ่ายมาเป็นรายจ่าย เพื่อคำนวณกำไรสุทธิ เป็นผลทำให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยกว่าความเป็นจริงนั้น เรียกไม่ได้ว่า โจทก์และเจ้าพนักงานประเมินมีความเห็นในการตีความกฎหมายต่างกันโดยสุจริต จึงไม่มีเหตุควรงดหรือลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ ฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน.

Share