คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2530

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 นั้น นอกจากจะต้องเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่า กระทำผิดอาญาแล้ว ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ด้วย เมื่อปรากฏว่าเหตุผลที่จำเลยกล่าวอ้างในคำฟ้องในคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สนับสนุนและเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้เพียงเล็กน้อย แม้จำเลยจะอ้างว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยประทับลงบนผ้าในผ้าและในฉลาก เป็นเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้ ก็ยังไม่พอฟังว่า จำเลยมีเจตนาฟ้องเท็จ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ และแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177, 180,83, 91 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ให้จำคุก1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่าจำเลยมีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือไม่และควรรับโทษเพียงใด
ข้อเท็จจริงจริงที่คู่ความนำสืบคงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 กับจำเลยทำการค้าผ้าดำตราความด้วยกัน แต่รูปตราควายของทั้งสองฝ่ายมีลักษณะคล้ายกันบ้าน ต่างกันบ้างจึงเกิดคดีฟ้องร้องกันระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลยหลายคดี และที่เกิดพิพาทกันในชั้นหลังนี้เป็นเรื่องเครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์ ซึ่งทางฝ่ายจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์ไว้แต่ฝ่ายโจทก์มิได้จดทะเบียนโดยทางการไม่ยอมรับจดทะเบียนให้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลจังหวัดแพร่เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 526/2531 หมายเลขแดงที่ 439/2523 กล่าวหาว่า จำเลยกับพวกร่วมกันเอาเครื่องหมายการค้าตรา”ควาย” ของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนแล้วกับรูปรอยประดิษฐ์ตัวอักษรตัวเลขกับชื่อ “ตราควายพระอาทิตย์” และรูปตราควายพระอาทิตย์ของโจทก์ ซึ่งใช้ในการค้าไปติดกับผ้าดำของจำเลยจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปศาลจังหวัดแพร่วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดจำเลยจึงฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลจังหวัดแพร่เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 594/2521 หมายเลขแดงที่ 686/2521 กล่าวหาว่าการพ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 526/2521 ของโจทก์เป็นการฟ้องเท็จและโจทก์ที่ 2เบิกความเท็จในคดีดังกล่าวด้วย ศาลจังหวัดแพร่ไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์คิดเห็นโดยสุจริตว่าจำเลยทำเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ไม่เป็นเท็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด โจทก์ทั้งสองจึงมาฟ้องคดีนี้ กล่าวหาว่า การฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 594/2521 ของจำเลยเป็นการฟ้องเท็จ และจำเลยเบิกความเท็จแสดงพยานหลักฐานอันเป็นการเท็จในการพิจารณาคดีดังกล่าวนั้นด้วย คงมีข้อที่นำสืบโต้เถียงกัน กล่าวคือ โจทก์นำสืบว่านายจือเนี้ยบิดาโจทก์ที่ 2 ค้าผ้าดำตราควายตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โจทก์ที่ 2 ได้ค้าผ้าดำตราควายต่อจากบิดามีการจัดตั้งห้างโจทก์ที่ 1 ขึ้น โจทก์ที่ 1 เคยฟ้องนายเต้าแซแซ่เฮ้ง บิดาจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครใต้ กล่าวหาว่า นายเต้าแซเลียนเครื่องหมายการค้าตราควายของโจทก์ที่ 1และนำมาใช้กับสินค้าผ้าดำของตนศาลพิพากษาลงโทษนายเต้าแซ จำเลยเคยเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลแขวงพระนครใต้ กล่าวหาว่า โจทก์ทั้งสองเลียนเครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์ของจำเลย ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์ที่ 1เคยฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดเฮ่งจิบฮั้วเชียงกับพวกเป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้ กล่าวหาว่าเลียนเครื่องหมายการค้าตราควายของโจทก์ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ข้อความตามคำฟ้องของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 594/2521 หมายเลขแดงที่ 686/2521 เป็นเท็จเพราะตราในฉลากและในผ้าตามผ้าดำ วัตถุพยานหมาย จ.7 จ.8 ของจำเลยไม่ตรงกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้ และจำเลยพึงมาค้าผ้าดำตราควายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2515 หรือ 2516 ภายหลังโจทก์ เลข 36 ที่ปรากฏในผ้าดำ โจทก์ใช้เป็นหมายเลขกำกับผ้ามาตั้งแต่ครั้งบิดาโจทก์แล้ว ส่วนจำเลยนำสืบว่า นายเต้าแซบิดาจำเลยเริ่มทำผ้าดำมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ตราควายพระอาทิตย์ด้วยตราหนึ่ง บิดาจำเลยได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์ โจทก์ที่ 2 คัดค้านแต่มิได้คัดค้านว่าใช้ตราควายพระอาทิตย์มาก่อน เมื่อนายทะเบียนยกคำคัดค้านโจทก์ที่ 2ฟ้องบิดาจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้อง หลังจากบิดาจำเลยถูกศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาลงโทษ บิดาจำเลยโอนเครื่องหมายการค้าและโรงงานย้อมผ้าให้จำเลยประมาณปี พ.ศ. 2518 จำเลยพบว่าโจทก์เลียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้จึงร้องเรียนให้ทางการดำเนินคดีกับโจทก์ผ้าดำของจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าตามที่จดทะเบียนไว้เพียงแต่เปลี่ยนรูปรอยเล็กน้อยส่วนที่เป็นสาระสำคัญตรงกับที่จดทะเบียนไว้
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่เกิดการฟ้องคดีนี้เริ่มต้นมาจากการที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 526/2521หมายเลขแดงที่ 439/2523 กล่าวหาว่า จำเลยกับพวกเอารูปเครื่องหมายการค้าตราควายของโจทก์พร้อมกับรูปรอยประดิษฐ์ ตัวอักษรตัวเลข กับชื่อ “ตราควายพระอาทิตย์” และรูป “ตราควายพระอาทิตย์”ไปใช้กับสินค้าของจำเลย ทำรูปควายเลียนรูปแบบควายของโจทก์โดยใส่รูปวงกลมมีแสงรัศมีไว้บนตัวควายนำไปใช้กับสินค้าของจำเลย คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งจดทะเบียนไว้ชื่อ”ตราควายพระอาทิตย์” ซึ่งจำเลยใช้เป็นเครื่องหมายการค้าแม้จะพ้องกับชื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เจ้าพนักงานก็ไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์ใช้ชื่อดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้า แต่ได้รับจดทะเบียนให้จำเลยใช้เป็นเครื่องหมายการค้าไม่ว่าโจทก์จะใช้ชื่อนี้มาก่อนหรือไม่ก็ตาม จำเลยย่อมมีสิทธิใช้ชื่อ “ตราควายพระอาทิตย์”เป็นเครื่องหมายการค้าของตนและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหลังจากจำเลยถูกฟ้องคดีดังกล่าวนี้แล้ว จำเลยได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 594/2521 หมายเลขแดงที่ 686/2521 กล่าวหาว่าคำฟ้องของโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 526/2521 เป็นเท็จเพราะเครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมายและไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ซึ่งมีแต่รูปควายอันจะเป็นการเลียนแบบแต่อย่างใด ส่วนชื่อ”ตราควายพระอาทิตย์” โจทก์ก็นำมาใช้ภายหลังจำเลยทั้ง ๆ ที่โจทก์ขอจดทะเบียนการค้ามาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุญาตเพราะไปตรงกับของจำเลย คำว่า “ตราควาย” จำเลยก็ไม่ได้นำไปใช้รูปรอยประดิษฐ์ตัวอักษรที่จำเลยใช้ก็ไม่เหมือนของโจทก์เลข 36 ที่ปรากฏบนผ้าจำเลยใช้มาก่อนโจทก์เพื่อแสดงถึงขนาดกว้างของผ้าที่นำมาย้อม โจทก์ทำขึ้นภายหลังเพื่อให้เหมือนของจำเลยแล้วนำมาฟ้องจำเลยต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้กล่าวอ้างว่าคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 594/2521 ของจำเลยเป็นเท็จเพราะเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏในสินค้าผ้าดำของจำเลยไม่เหมือนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าเครื่องหมายกาค้าตราควายพระอาทิตย์ที่ปรากฏในสินค้าผ้าดำของจำเลยตามวัตถุพยานหมาย จ.8 มีลักษณะตรงกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้ตามเอกสารหมาย จ.5เกือบทั้งสิ้น คือ มีรูปเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ภายในด้านบนมีตัวอักษรไทย 2 บรรทัด บรรทัดแรกมีข้อความว่า โรงย้อมผ้าจิบฮั่วเชียง บรรทัดที่ 2 มีข้อความว่า ตราควายพระอาทิตย์ใต้ข้อความมีภาพวงกลม มีรัศมีอยู่เหนือควายด้านข้างซึ่งหันศีรษะไปทางซ้ายของภาพ มีตัวอักษรจีนเรียงจากบนลงล่างอยู่ 2 ข้างวงกลมด้านซ้ายมีอักษรจีน 4 ตัว ด้านขวามืออักษรจีน 3 ตัว คงมีข้อความแตกต่างอยู่เพียงอักษรจีนด้านซ้าย 2 ตัวล่าง ที่ไม่เหมือนกันเท่านั้น ผู้ที่ไม่รู้อักษรจีนย่อมไม่ทราบข้อแตกต่างข้อนี้เพราะลักษณะส่วนใหญ่และตัวอักษรไทยตรงกัน ข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ยังไม่ถึงกับเป็นเท็จ การค้าผ้าดำของโจทก์จำนวนล้วนแต่ได้รับสืบทอดมาจากบิดาของตนด้วยกัน และมีการฟ้องคดีกันไปมาหลายคดี ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าใช้ชื่อตราควายพระอาทิตย์มาก่อน เห็นว่าที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 นั้น นอกจากจะต้องเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาแล้วผู้กระทำจะต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ด้วย เมื่อปรากฏว่าเหตุผลที่จำเลยกล่าวอ้างในฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 594/2521มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สนับสนุน และเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนไว้เพียงเล็กน้อยจึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาฟ้องเท็จ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักกว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงอีกต่อไป
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share