คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาเช่าจะระบุว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าจะขายที่ดินที่เช่าจะต้องแจ้งให้โจทก์ผู้เช่าทราบล่วงหน้า เพื่อให้โอกาสโจทก์ซื้อก่อนก็ตามข้อตกลงนี้ก็เป็นเพียงก่อให้เกิดบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าของที่ดินนั้นในภายหลัง โจทก์จึงหามีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้ขาย กับจำเลยที่ 3 ผู้ซื้อและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองไม่
ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระหนี้อันจะแบ่งแยกมิได้ แม้จำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินซึ่งเป็นของจำเลยที่ ๑ กับมารดาจากจำเลยที่ ๑ ต่อมามารดาจำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรม ที่ดินที่เช่าเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงรับโอนทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่ระบุว่า ถ้าผู้ให้เช่าจะขายที่ดินที่เช่าจะต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้าเพื่อผู้เช่าจะได้มีโอกาสซื้อก่อนเมื่อเห็นว่าเป็นราคาสมควร ต่อมาจำเลยที่ ๒ ขายที่ดินที่เช่าแก่จำเลยที่ ๓ โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า เป็นการทำนิติกรรมทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ แล้วให้จำเลยที่ ๓ขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่สามารถโอนขายแก่โจทก์ได้ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์อยู่ในที่ดินที่เช่าจนครบกำหนดตามสัญญาแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาอีกต่อไป และไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ โจทก์ไม่เสียหายดังฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ซื้อที่ดินตามฟ้องโดยสุจริตมิได้กระทำการฉ้อฉลโจทก์ และมิได้ทำให้โจทก์เสียหาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ ๑ และนางแม้น มารดาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๐๘๓ โจทก์เช่าที่ดินโฉนดดังกล่าวบางส่วนจากจำเลยที่ ๑ มีกำหนดตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๒ ถึงวันที่ ๓๑สิงหาคม ๒๕๒๕ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๓ นางแม้นถึงแก่กรรม ที่ดินที่โจทก์เช่าเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ ๒ วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๕ จำเลยที่๒ ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๓ ครั้นถึงวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๕ จำเลยที่ ๓ บอกกล่าวให้โจทก์ออกจากที่ดินที่เช่า โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายดังกล่าว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จะระบุว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ จะขายที่ดินที่เช่าจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเพื่อให้โอกาสโจทก์ที่จะซื้อก่อนเมื่อเห็นว่าเป็นราคาสมควรก็ตาม ข้อตกลงนี้ก็เป็นเพียงก่อให้เกิดบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โจทก์จึงหามีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองไม่ คดีจึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ นั้น เป็นฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ชำระหนี้อันจะแบ่งแยกกันชำระมิได้ แม้จำเลยที่ ๓ มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ ๓ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share