คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2201/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คพิพาทเป็นแคชเชียร์เช็คที่ธนาคารจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย หาใช่ผู้เคยค้าสั่งจ่ายเช็คพิพาทมาเบิกเงิน จากธนาคารจำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยที่ 1 จะยกเอาข้อต่อสู้ ที่ว่าจำเลยที่ 2 มีคำบอกกล่าวว่าเช็คพิพาทถูกชิงทรัพย์ ไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991(3),992(1) มายกเว้นความรับผิดของตนต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คจำนวน 407,334 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 406,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 มอบให้แก่จำเลยที่ 2 แทนเงินที่จำเลยที่ 2ที่ 3 และนางอนุสรณ์ สุดประเวส ร่วมกันกู้ยืมจากจำเลยที่ 1ต่อมาโจทก์นำแคชเชียร์เช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน แต่จำเลยที่ 1ปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเพราะจำเลยที่ 2มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ให้ระงับการจ่ายเงิน โดยอ้างว่าแคชเชียร์เช็คพิพาทถูกชิงทรัพย์ไป ต่อมาจำเลยที่ 1 ออกแคชเชียร์เช็คฉบับใหม่ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเมื่อมีคำบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ว่าแคชเชียร์เช็คพิพาทถูกชิงทรัพย์สูญหายไปและจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิโดยสุจริตระงับและยกเลิกเช็คตามกฎหมายจึงไม่ต้องรับผิดชอบใช้เงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 และ 992 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 บัญญัติว่า “ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้าได้ออกเบิกเงินแก่ตนเว้นแต่ในกรณีดังกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) (3) ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป” และตามมาตรา 992 บัญญัติว่า “หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น ท่านว่าเป็นอันสุดสิ้นไปเมื่อกรณีเป็นดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) มีคำบอกห้ามใช้เงิน” เห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นข้อยกเว้นที่ให้อำนาจธนาคารไม่จำต้องจ่ายเงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้าสั่งจ่ายมาเบิกเงินแก่ตน จึงเป็นคนละกรณีกับการที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงเช็คดังที่พิพาทกันในคดีนี้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฎว่าเช็คพิพาทเป็นแคชเชียร์เช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย หาใช่ผู้เคยค้าสั่งจ่ายเช็คพิพาทมาเบิกเงินจากธนาคารจำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยที่ 1 จึงอ้างมาตรา 991(3) และมาตรา 992(1) มายกเว้นความรับผิดของตนต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คหาได้ไม่ เมื่อมาตรา 900 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น” ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คพิพาท จึงต้องผูกพันตนเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะต้องจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ผู้ทรงเช็ค เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คพิพาทโดยชอบ จึงฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามเช็คได้โดยตรง จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้ออกแคชเชียร์เช็คฉบับใหม่ให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว เพื่อปัดความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงแคชเชียร์เช็คพิพาทไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share