แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง เป็นคำให้การที่ไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบในเรื่องนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องชัดเจนว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่อาจนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 แต่จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ได้
ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้ เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำว่า โดยสุจริต หมายความว่า บุคคลภายนอกได้กระทำนิติกรรมกับคู่สมรสฝ่ายหนึ่งโดยมิได้ล่วงรู้ว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมซื้อที่ดินโดยรู้แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์มิได้ยินยอมให้ทำนิติกรรม จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยมิได้สนใจไปดูที่ดินพิพาทและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ให้ไปไถ่ถอนที่ดินด้วยเงินจำนวนมากโดยมิได้มีหลักประกันใดว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลง และชำระราคาที่ดินที่เหลือโดยไม่ปรากฏหลักฐาน ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นไปโดยสุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 19688 เลขที่ดิน 30 ตำบลสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนตั้งแต่การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงรายการจดทะเบียนขายระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนในสารบัญการจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินเลขที่ 19688 ตั้งแต่รายการจดทะเบียนขายระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงรายการจดทะเบียนขายระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 25,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์เป็นเงิน 5,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2532 จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยแบ่งซื้อที่ดินจากนายทัวเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2539 ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะใช้ชื่อว่านางขวัญจิต ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2553 จำเลยที่ 2 ขณะใช้ชื่อว่า นางภัทรานิษฐ์ ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อแรกว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ไม่ควรรับฟัง โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ เป็นการไม่ประสงค์ต่อสู้คดี แล้วกลับเข้าเบิกความว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการเอาเปรียบจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ทราบและไม่รับรอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบในเรื่องนี้ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องชัดเจนว่าได้แต่งงานด้วยการจดทะเบียนกับจำเลยที่ 1 ในปี 2532 ในปี 2533 ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายทัวแล้วออกเป็นโฉนดโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในปี 2539 จึงรับฟังได้แล้วว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ เพราะมิได้ให้การปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้ง ทั้งมาตรา 1474 วรรคท้าย บัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ดังนั้น กรณีไม่ว่าศาลล่างทั้งสองจะฟังคำเบิกความของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลการวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งแม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การซึ่งไม่อาจนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 แต่การที่จำเลยที่ 1 มาเบิกความในฐานะพยานโจทก์จึงหาต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย ตามมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอเพิกถอนนิติกรรมได้ เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรม บุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำว่า โดยสุจริต ในมาตรา 1480 วรรคหนึ่งนี้ หมายความว่า บุคคลภายนอกได้ทำนิติกรรมกับคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง โดยมิได้ล่วงรู้ว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในทางนำสืบและข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คงอ้างว่า การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทได้กระทำไปโดยชอบตามแบบของนิติกรรมตามมาตรา 456 เท่านั้น แต่ทางพิจารณากลับได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์กรีดยางพาราในที่ดินพิพาทตลอดมา โดยมีนายจิ๋วและนางคำเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาเบิกความสนับสนุน ในขณะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความลอย ๆ ว่าได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 2 รู้จักคุ้นเคยกับโจทก์และจำเลยที่ 1 มาก่อน ได้รับโฉนดที่ดินพิพาทไปจากจำเลยที่ 1 ด้วยการมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2539 จำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเลย คงนำโฉนดที่ดินไปหาประโยชน์ด้านอื่นดังปรากฏตามโฉนดที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 2 นำไปจดทะเบียนจำนองและไถ่ถอนจำนองหลายคราว แสดงว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนารับซื้อที่ดินพิพาทเพื่อเป็นของตนดังอ้าง รูปการเจือสมรับทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ปลูกต้นยางพารา ได้เป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอยืมโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อไปประกันเงินกู้ แต่โจทก์ไม่ยินยอม แต่จำเลยที่ 1 ได้ยอมให้โฉนดที่ดินพิพาทโดยโอนขายให้จำเลยที่ 2 โจทก์ทราบแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ยืมโฉนดที่ดินพิพาทไป จึงให้จำเลยที่ 1 ไปทวงโฉนดคืนในปี 2550 การที่หลังจากจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทแล้วยังให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมา แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำนิติกรรมซื้อที่ดินดังกล่าวโดยรู้แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์มิได้ยินยอมให้ทำนิติกรรม จำเลยที่ 2 จึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต สำหรับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นขัดแย้งกับการซื้อขายที่ดินทั่วไป กล่าวคือ จำเลยที่ 3 รับรู้ถึงที่ดินพิพาทจากเอกสารโฉนดที่ดิน โดยมิได้สนใจไปดูที่ดินพิพาท จ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ให้ไปไถ่ถอนที่ดินด้วยเงินจำนวนมาก และมิได้มีหลักประกันใดว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลง การจ่ายเงินจำนวนมากไม่ว่าในทอดใดให้ไปไถ่ถอนจำนองหรือชำระราคาที่ดินที่เหลือก็ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการทำนิติกรรมไปโดยสุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมรายนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ