แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอออกหมายจับบุคคลใด ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแน่ใจว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน
คดีนี้แม้การออกหมายจับที่ระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายจะสืบเนื่องมาจากคำให้การของผู้เสียหายและพยาน แต่ผู้เสียหายยังระบุยืนยันว่าคนร้ายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม แต่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นพยานระบุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอดไม่เคยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดนครพนม และยังมีภาพถ่ายของโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าบุคคลที่ขอออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ โดยจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายของโจทก์ว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนกลับขอให้ศาลออกหมายจับโดยระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายไปเลย แม้การขอให้ออกหมายจับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวังไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมที่ออกหมายจับโจทก์ผิดตัวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 5,085,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 201,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พฤษภาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2541 นายเพิ่มสุข ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนม ขอให้ดำเนินคดีแก่นายสิงห์ ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งร่วมประเวณีกับเด็กหญิง น. บุตรสาวของตน อายุ 14 ปี พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำนายเพิ่มสุขและเด็กหญิง น. ไว้ ตามบันทึกคำให้การของพยาน ในวันเดียวกันนั้นพนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กหญิง น. ไปพบแพทย์ตรวจชันสูตรที่โรงพยาบาลนครพนม ผลการตรวจพบว่า ภายในช่องคลอดพบเยื่อพรหมจรรย์มีรอยฉีกขาดใหม่หลายแห่ง และยังพบตัวอสุจิและสารอะซิคฟอสฟาเตสในช่องคลอด ตามผลการตรวจชันสูตรของแพทย์ ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2541 พนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและจัดทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา แล้วยังได้สอบปากคำนายแพทย์สมเกียรติ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายเด็กหญิง น. ตามบันทึกคำให้การของแพทย์ ขณะนั้นพนักงานสอบสวนเห็นว่าการกระทำของนายสิงห์ ไม่ทราบนามสกุล มีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่ากระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม จึงเห็นควรจับกุมตัวนายสิงห์ ไม่ทราบนามสกุล มาเพื่อดำเนินคดีต่อไปจึงรวบรวมพยานหลักฐานเสนอขอความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 พนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกขอความเห็นชอบจับกุมหรือออกหมายจับนายสิงห์ ไม่ทราบนามสกุลต่อนายอำเภอเมืองนครพนม ซึ่งนายอำเภอเมืองนครพนมเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอเชื่อว่านายสิงห์ ไม่ทราบนามสกุล ได้ทำความผิดตามบันทึกขอความเห็นชอบจับกุมหรือออกหมายจับ ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2541 พนักงานสอบสวนได้นำสำนวนคดีอาญาที่ 435/2541 พร้อมหมายจับและตำหนิรูปพรรณ เสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อออกหมายจับนายสิงห์ ไม่ทราบนามสกุล ผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงให้จับนายสิงห์ ไม่ทราบนามสกุล ตามความผิดดังกล่าว ตามหมายจับฉบับที่ 37/2541 จากนั้นจึงรวบรวมพยานหลักฐานส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม ตามรายงานการสอบสวนคดีอาญาและหนังสือสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนม ต่อมามีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่บัญญัติให้อำนาจศาลเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจออกหมายจับ พนักงานสอบสวนดำเนินการเปลี่ยนหมายจับ และตรวจสอบชื่อและนามสกุลกับข้อมูลทางทะเบียนราษฎร ปรากฏว่ามีชื่อนายทศพล ที่ปรากฏในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร โดยมีหมายเลขประจำตัวประชาชน 3-1007-00257-19-9 อยู่บ้านเลขที่ 199/1 ถนนพระราม 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จากนั้นได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาสองครั้งโดยให้นายทศพลไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนม เพื่อพบพนักงานสอบสวน โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ แต่ไม่สามารถส่งหมายเรียกตามที่อยู่ที่ปรากฏตามข้อมูลทะเบียนราษฎรได้ ในวันที่ 4 มีนาคม 2547 พนักงานสอบสวนจึงยื่นคำร้องขอหมายจับจากศาลตามหมายจับเดิม พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งเป็นบันทึกคำให้การของพยานต่างๆ หมายเรียกผู้ต้องหาทั้งสองครั้ง หมายจับลำดับที่ 37/2541 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 และตำหนิรูปพรรณผู้กระทำผิดที่ศาลไต่สวนคำร้องขอออกหมายจับ แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายจับนายทศพลหรือสิงห์ ตามขอ ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดนครพนม ลงวันที่ 4 มีนาคม 2547 และได้ออกหมายจับที่ จ.232/2547 ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ขณะที่โจทก์ขับรถจักรยานยนต์บริเวณถนนริมทางรถไฟสายเก่า เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อที่ตั้งด่านตรวจจับกุมในข้อหาขาดต่อทะเบียนรถ จากนั้นได้นำตัวโจทก์ไปยังสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนปรากฏว่าโจทก์ถูกศาลจังหวัดนครพนมออกหมายจับที่ จ.232/2547 ในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาตน โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมตามหมายจับ โจทก์ให้การปฏิเสธ วันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจนำตัวโจทก์ไปส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนม ซึ่งได้แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ให้การปฏิเสธ ตามบันทึกคำให้การ ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 โจทก์ถูกส่งตัวไปควบคุมต่อที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม และในวันรุ่งขึ้นโจทก์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีประกันต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2554 พนักงานสอบสวนจัดให้นาง น. ผู้เสียหายชี้ตัวโจทก์ว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ นาง น. ยืนยันว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดตามใบต่อคำให้การและภาพถ่ายประกอบคดีอาญาภายหลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวโจทก์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครพนม ศาลมีคำสั่งอนุญาต และได้รายงานต่อพนักงานอัยการว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้กระทำผิดจึงไม่ประสงค์ดำเนินคดีอีกต่อไป วันที่ 20 ธันวาคม 2554 พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ ตามหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เดิมการขอให้ออกหมายจับคนร้ายของพนักงานสอบสวนที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ได้ระบุชื่อคนร้ายว่าชื่อนายสิงห์ ไม่ทราบนามสกุล ตามที่ผู้เสียหายและพยานได้ให้การไว้ต่อร้อยตำรวจโทพิชัยรัชช์ พนักงานสอบสวนคนเดิมเท่านั้นมิได้ปรากฏชื่อโจทก์แต่อย่างใด แต่เหตุที่มีการระบุชื่อโจทก์ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับนายสิงห์คนร้าย ก็เพราะพันตำรวจตรี (ยศขณะเบิกความ) ทองพูน พนักงานสอบสวนซึ่งรับสำนวนต่อจากพนักงานสอบสวนคนเดิม และมีหน้าที่ขอเปลี่ยนหมายจับเดิมซึ่งออกโดยเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นหมายจับที่ต้องออกโดยศาลเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่บัญญัติไว้ ได้ตรวจสำนวนการสอบสวนในคดีดังกล่าวแล้ว พบว่าผู้เสียหายและพยานต่างให้การเพิ่มเติมไว้ต่อร้อยตำรวจโทปรียะวัฒน์ พนักงานสอบสวน ซึ่งรับสำนวนต่อจากร้อยตำรวจโทพิชัยรัชช์ว่า นายสิงห์คนร้ายมีชื่อจริงว่านายทศพล ซึ่งเป็นชื่อของโจทก์ พันตำรวจตรีทองพูนจึงได้ขอให้ศาลออกหมายจับระบุชื่อคนร้ายว่าเป็นนายทศพลหรือสิงห์ ตามสำเนาหมายจับ เป็นเหตุให้โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อจับกุมตามหมายจับดังกล่าวและถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่อำเภอเมืองนครพนมท้องที่เกิดเหตุ เห็นว่า แม้การออกหมายจับที่ระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายจะสืบเนื่องมาจากคำให้การของผู้เสียหายและพยานก็ตาม แต่การขอให้ออกหมายจับบุคคลใด ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำผิดจริง ซึ่งจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม มิให้เกิดความผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นที่แน่ใจว่าบุคคลที่ขอให้ออกหมายจับนั้น เป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน สำหรับคดีนี้นอกจากผู้เสียหายและพยานจะระบุว่าคนร้ายมีชื่อจริงว่านายทศพล ซึ่งเป็นชื่อของโจทก์แล้ว ผู้เสียหายและพยานยังระบุยืนยันว่าคนร้ายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม และศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนครพนมวิทยาคมด้วย แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่นำพาต่อข้อมูลดังกล่าว ทั้งที่ข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร กรมการปกครองที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นพยานหลักฐานในการขอให้ออกหมายจับโจทก์ตามสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ระบุไว้ชัดเจนว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 199/1 ถนนพระราม 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอดมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลนาราชควาย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ทั้งข้อมูลส่วนบุคคลนี้ก็มีภาพถ่ายของโจทก์ปรากฏอยู่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงขัดแย้งกันเช่นนี้ ย่อมต้องเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนว่าบุคคลที่ถูกขอให้ออกหมายจับเป็นบุคคลคนเดียวกับคนร้ายหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดก็โดยการจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายของโจทก์ที่ปรากฏอยู่ว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอให้ออกหมายจับ การที่พนักงานสอบสวนอ้างเหตุเพียงว่าตามข้อมูลทะเบียนราษฎรดังกล่าวมีชื่อนายทศพล เพียงคนเดียว จึงได้ขอให้ศาลออกหมายจับระบุชื่อโจทก์เป็นคนร้ายไปเลย โดยไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่ให้เป็นที่กระจ่างชัดเสียก่อนถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ที่ขอให้ออกหมายจับเป็นผู้ได้กระทำผิดจริง เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ ที่จำเลยอ้างว่า พนักงานสอบสวนไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการใช้อำนาจสอบสวนเพิ่มเติมโดยพลการ เนื่องจากข้อเท็จจริงนี้เพิ่งปรากฏภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้วนั้น เห็นว่า แม้หากจะฟังตามที่จำเลยอ้าง ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้อำนาจสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวน แต่เป็นการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าบุคคลที่ถูกออกหมายจับมาดำเนินคดีเป็นคนร้ายตัวจริงหรือไม่มากกว่า ดังที่พันตำรวจโทสุขสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนซึ่งได้รับสำนวนต่อมาหลังจากที่มีการจับกุมโจทก์ได้ดำเนินการ โดยเมื่อพันตำรวจโทสุขสวัสดิ์รับสำนวนต่อมาแล้วเกิดความสงสัยว่าโจทก์เป็นบุคคลคนเดียวกันกับคนร้ายหรือไม่ จึงนำตัวโจทก์ไปให้ผู้เสียหายชี้ตัว แต่ผู้เสียหายยืนยันว่าโจทก์ไม่ใช่คนร้าย หลังจากนั้นเมื่อพันตำรวจโทสุขสวัสดิ์ดำเนินการตรวจสอบจนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าโจทก์มิใช่คนร้ายจริงแล้ว ก็เสนอรายงานต่อผู้บังคับบัญชาและยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวโจทก์ในที่สุด แม้การขอให้ออกหมายจับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายแต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวัง ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้มีการออกหมายจับผิดตัว ทำให้โจทก์ต้องถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีต่างท้องที่ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครพนมที่ออกหมายจับโจทก์ผิดตัวจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นค่าขาดรายได้ ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงและค่าสูญเสียอิสรภาพให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเพียง 201,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ซึ่งโจทก์ก็พอใจและไม่ติดใจฎีกานั้น เมื่อจำเลยมิได้ตั้งประเด็นข้อนี้ไว้ในคำแก้ฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ