คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9333/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 6 และ 12 ต้องการปกป้องราษฎรที่เป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองให้มีที่ดินไว้ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี จะจำหน่ายจ่ายโอน ด้วยประการใด ๆ ก่อนครบกำหนดไม่ได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดก ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของนิคมผู้ได้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตกลงโอนที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งให้แก่ น. ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกนิคม โดยให้ น. เข้าครอบครองที่ดินพิพาทในทันที แม้จำเลยและ น. มีเจตนาไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทภายหลังจากที่จำเลยไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทและพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม ก็เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่ง เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 1 งาน 53.3 ตารางวา หากจำเลยไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นายพรเทพซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางนงเยาว์ กาญจนอักษร ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามโครงการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพของกรมประชาสงเคราะห์โดยนิคมสร้างตนเองขุนทะเลเป็นผู้ดำเนินการ เดิมทางนิคมสร้างตนเองขุนทะเล ได้จัดสรรให้นายสวงเป็นผู้เข้าทำประโยชน์ จำเลยเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองขุนทะเลและได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อจากนายสวงซึ่งขอลาออกจากการเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองขุนทะเล จนได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) แต่เมื่อจำเลยไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาท นางนงเยาว์มารดาโจทก์ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองขุนทะเลได้คัดค้าน ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ได้ทำการไกล่เกลี่ย จำเลยและนางนงเยาว์ได้ทำบันทึกตกลงแบ่งที่ดินพิพาทกันคนละกึ่งหนึ่ง โดยให้จำเลยดำเนินการออกเอกสารสิทธิที่ดินพิพาทต่อไปในนามของจำเลย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายห้ามทำนิติกรรม (ห้าปีแล้ว) จำเลยจะต้องทำการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นสองส่วนโอนให้แก่นางนงเยาว์กึ่งหนึ่ง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า บันทึกข้อตกลงระหว่างนางนงเยาว์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 หรือไม่ ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยจัดตั้งเป็นนิคมตาม พ.ร.บ. นี้” และมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะปกป้องราษฎรที่เป็นสมาชิกของนิคมให้มีที่ดินไว้ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อยห้าปีจะจำหน่ายจ่ายโอนด้วยประการใด ๆ ก่อนครบกำหนดไม่ได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดก ดังนั้น การที่จำเลยผู้ได้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทสืบต่อจากนายสวง ตกลงโอนที่ดินพิพาทให้แก่นางนงเยาว์ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองขุนทะเลกึ่งหนึ่ง โดยให้นางนงเยาว์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทในทันที แม้จำเลยและนางนงเยาว์มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันภายหลังจากที่จำเลยไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทและพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม ก็เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย บันทึกข้อตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150 ที่ได้ตรวจชำระใหม่)…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share