แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นไม่ใช่ศาลแห่งท้องที่ซึ่งพิจารณาออกหมายลดโทษให้แก่จำเลย ตามพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำร้อง ของจำเลย ชอบที่จำเลยจะไปยื่นคำร้องให้ถูกทาง พิพากษา ยกคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นไม่รับคำร้องของ จำเลยไว้พิจารณา การที่จำเลยฎีกาว่าคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ที่ จะได้รับพระราชทานอภัยโทษและศาลแห่งท้องที่ปรับลดโทษ ให้จำเลยไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ขอให้ศาลฎีกาปรับลดโทษให้ จำเลยใหม่อันเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งเลยว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง ด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7, 15, 65 วรรคแรก, 66 วรรคสอง, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 80, 90 ลงโทษฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเกินหนึ่งร้อยกรัมเพื่อจำหน่ายจำคุกตลอดชีวิต คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 33 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 6 ตลอดชีวิต ยกฟ้องโจทก์สำหรับ จำเลยที่ 4 และที่ 5 แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ ริบโฮโรอีนทั้งหมด ถุงทะเล 2 ใบ และเรือประมงติดป้ายชื่อทรัพย์กมลนาวี 4 ส่วนเงินสด 58,000 บาท ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นของที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษซึ่งจะต้องริบตามความหมายในมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงให้คืนแก่เจ้าของ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 6 ไม่ริบเรือประมงทรัพย์กมลนาวี 4 และให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 6 กับให้ริบเรือของกลาง ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 6 ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2539 มาตรา 7(2) บัญญัติว่า ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตให้ลดโทษลงเป็นจำคุกสี่สิบปี จึงเท่ากับเป็นการยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 7(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2530 ที่บัญญัติให้ลดโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปี อันเป็นการตีความเพื่อมิให้สิทธิในการได้รับพระราชทานอภัยโทษในหน แรกของจำเลยที่ 6 ต้องถูกริดรอน จึงต้องปรับโทษจำคุก 50 ปี เป็นโทษจำคุก 40 ปี แล้วคิดลดโทษลง 1 ใน 5 คงเหลือโทษจำคุก 32 ปี
ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดตราด) มีคำสั่งว่าตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 มาตรา 11กำหนดให้การพิจารณาอภัยโทษแก่นักโทษผู้ใด โดยคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบผู้จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ และให้ศาลแห่งท้องที่ (ศาลจังหวัดนนทบุรี) พิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ ฉะนั้น หากจำเลยที่ 6 เห็นว่า การปรับลดโทษไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบจะโต้แย้งต่อคณะกรรมการหรือศาลแห่งท้องที่เพื่อพิจารณาลดโทษนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ได้พิจารณาคำร้องของ จำเลยที่ 6 แล้ว เห็นว่า การปรับลดโทษให้จำเลยที่ 6 และออกหมายลดโทษของศาลจังหวัดนนทบุรีถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 แล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดตราด) เป็นไม่รับคำร้องของ จำเลยที่ 6 ไว้พิจารณา
จำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดตราด) ไม่ใช่ศาลแห่งท้องที่ซึ่งพิจารณาออกหมายลดโทษให้แก่จำเลยที่ 6 ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของ จำเลยที่ 6 ชอบที่จำเลยที่ 6 จะไปยื่นคำร้องให้ถูกทาง พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดตราด) เป็นไม่รับคำร้องของ จำเลยที่ 6 ไว้พิจารณาจำเลยที่ 6 ฎีกาว่า คณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษและศาลแห่งท้องที่ (ศาลจังหวัดนนทบุรี) ปรับลดโทษให้จำเลยที่ 6 ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ขอให้ศาลฎีกาปรับลดโทษให้จำเลยที่ 6 ใหม่ อันเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัย จำเลยที่ 6 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย อย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 6