แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือสัญญากู้ยืมที่มีข้อความว่า “พระครู ก. ได้ยืมเงินสดเพื่อจะจ่ายค่าก่อสร้างวัดให้ลุล่วงไปด้วยดี….บาท กำหนดคืนให้หลังทอดกฐินวัดเรียบร้อยแล้ว” เป็นเพียงหลักฐานในการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อพระครู ก. ผู้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เท่านั้น มิใช่สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
หนี้สินที่พระครู ก. ซึ่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เป็นหนี้ที่ใช้ในการก่อสร้างกุฏิอันเป็นศาสนสมบัติของวัดจำเลย มิใช่เป็นการกู้ยืมเพื่อตนเอง พระครู ก. กระทำการดังกล่าวแทนจำเลยได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 37 และ 39 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 อีกทั้งเมื่อโจทก์ได้ส่งมอบเงินให้พระครู ก. ซึ่งกระทำแทนจำเลยไปแล้ว สัญญากู้ย่อมบริบูรณ์ การที่จะต้องให้ไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บรักษาเงินหรือต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายตามกฎกระทรวงข้อ 6 ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ไม่เกี่ยวกับความบริบูรณ์ของสัญญากู้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2540 ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 524,685 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 24,685 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า พระครูเกษมจิตตาภรณ์กู้ยืมเงินไปจากโจทก์และเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 รับฟังพยานหลักฐานได้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ทั้งสองฉบับนั้นมีข้อความในลักษณะเดียวกันว่า “พระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้ยืมเงินสดเพื่อจะจ่ายค่าก่อสร้างวัดให้ลุล่วงไปด้วยดี…..บาท กำหนดคืนให้หลังทอดกฐินวัดเรียบร้อยแล้ว” โดยเอกสารทั้งสองฉบับเห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงหลักฐานในการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อพระครูเกษมจิตตาภรณ์ ผู้ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เท่านั้น หาใช่สัญญากู้ยืมเงินไม่ ดังนั้น เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่จำต้องปิดอากรแตมป์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่า ลายมือชื่อในช่องผู้กู้มิใช่ลายมือชื่อพระครูเกษมจิตตาภรณ์หรือมีความไม่ชอบของเอกสารดังกล่าวแต่ประการใดจึงต้องรับฟังพยานหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ว่า พระครูเกษมจิตตาภรณ์ได้กู้ยืมเงิน จำนวน 500,000 บาท ไปจากโจทก์จริง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานผลการตรวจสอบหนี้สินในการก่อสร้างกุฏิของจำเลยเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งมีกรรมการที่มาจากตัวแทนอำเภอพรหมบุรี และตัวแทนเจ้าคณะตำบลบ้านหม้อสรุปผลการตรวจสอบว่า หนี้สินที่พระครูเกษมจิตตาภรณ์กู้ยืมเงินโจทก์เป็นหนี้ที่ใช้ในการก่อสร้างกุฏิอันเป็นศาสนสมบัติของจำเลย หาใช่เป็นการกู้ยืมเพื่อตนเองไม่ ซึ่งพระครูเกษมจิตตาภรณ์กระทำการดังกล่าวแทนจำเลยได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 37 และ 39 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 อีกทั้งเมื่อโจทก์ได้ส่งมอบเงินให้พระครูเกษมจิตตาภรณ์ซึ่งกระทำแทนจำเลยรับมอบจำนวนเงินที่กู้ไปแล้ว สัญญากู้ย่อมบริบูรณ์ การที่จะต้องให้ไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บรักษาเงินหรือต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายตามกฎกระทรวง ข้อ 6 ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 นั้นไม่เกี่ยวกับความบริบูรณ์ของสัญญากู้แต่ประการใด ดังนั้น เมื่อพระครูเกษมจิตตาภรณ์เป็นผู้แทนของจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์มาใช้ในกิจการอันเป็นศาสนสมบัติของจำเลยเช่นนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.