คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1629/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้สัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ระหว่างบริษัท ช. กับองค์การ ท. จะมีข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามสัญญาให้แก่ผู้อื่น แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้โดยหากได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากองค์การ ท. ก็สามารถโอนได้แสดงว่ามิใช่การห้ามโอนโดยเด็ดขาด และการผิดสัญญาในข้อกำหนดห้ามโอน ก็เป็นเพียงการให้สิทธิองค์การ ท. ที่จะบอกเลิกสัญญาได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าทางองค์การท. ถือว่าบริษัท ช. กระทำผิดสัญญาและมีการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยจึงบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ
จำเลยฎีกาว่าจำเลยทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล เพราะเข้าใจว่าจำเลยโจทก์ได้รับสิทธิมาจากบริษัท ช. นิติกรรมการว่าจ้างจึงเป็นโมฆะนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา
สัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เป็นความรับผิดระหว่างบริษัท ช. กับองค์การ ท. ซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ความรับผิดระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นไปตามสัญญาจ้างทำของซึ่งมิได้ให้ถือเอาสัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างทำของการนับอายุความจึงต้องแยกจากกัน เมื่อสัญญาจ้างทำของกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า การชำระเงินให้ชำระภายใน 30วัน นับจากวันที่ที่ระบุในใบแจ้งหนี้ จึงต้องนับอายุความนับแต่นั้น เพราะเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ ส่วนก่อนหน้านั้นยังไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/13 มิใช่เริ่มนับแต่วันทำสัญญาหรือถือเอาตามสัญญาเดิม
จำเลยว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเพื่อรับจ้างทำของให้ทำการโฆษณาสินค้า โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) เมื่อตามใบแจ้งหนี้ระบุวันที่ครบกำหนดชำระไว้เป็นวันที่ 30 กรกฎาคม 2539 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายในกำหนด 2 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์พิมพ์โฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์หน้าเหลือง ฉบับภาษาไทย เขตนครหลวงประจำปี 2539 ประเภทธุรกิจ “ก่อสร้างวัสดุ”ซึ่งเป็นกิจการของจำเลยทั้งสอง ตกลงค่าจ้างเป็นจำนวน 160,260 บาท และจะชำระภายใน 30 วัน นับจากวันที่ระบุในใบแจ้งหนี้ หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์พิมพ์โฆษณาลงในสมุดโทรศัพท์ของบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์จำกัด พร้อมส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย และจำเลยทั้งสองต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ของค่าจ้างแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 222,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 160,260 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิทำและพิมพ์โฆษณาลงในสมุดโทรศัพท์ของบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด และขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โจทก์ผิดสัญญาทำงานที่จ้างเกินกว่าข้อตกลงและไม่ได้แจกจ่ายสมุดโทรศัพท์ให้แก่ผู้ใช้โทรศัพท์หมายเลขในเขตกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 2 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์เป็นค่าลงโฆษณา 160,260บาท กับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 11,218.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15ต่อปี ของต้นเงิน 160,260 บาท นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 46,074 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยที่ 1อ้างและนำสืบว่าเป็นโมฆะ เนื่องจากโจทก์รับโอนสิทธิการโฆษณาและจัดพิมพ์จากบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด อันขัดต่อข้อสัญญาระหว่างบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์จำกัด กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ซึ่งห้ามมิให้มีการโอนสิทธิในการโฆษณาและจัดพิมพ์ให้กับผู้อื่น เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 นำสืบเจือสมกันว่า มีการลงโฆษณาและโจทก์ได้จัดส่งสมุดโฆษณาโทรศัพท์หน้าเหลืองชินวัตร เขตกรุงเทพมหานคร รวม 4 เล่ม ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือว่าได้ปฏิบัติตรงตามข้อตกลงในสัญญาจ้างทำของเอกสารหมาย จ.4 เป็นที่ถูกต้องแล้ว ดังนั้นถึงหากสัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ระหว่างบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย ล.1 จะมีข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามสัญญาให้แก่ผู้อื่นอยู่ในข้อ 16 แต่ข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวก็มีข้อยกเว้นไว้โดยหากได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก็สามารถโอนสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 ได้แสดงว่ามิใช่การห้ามโอนโดยเด็ดขาด และการผิดสัญญาในข้อกำหนดห้ามโอนก็เป็นเพียงการให้สิทธิองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่จะบอกเลิกสัญญาตามข้อ 13 ได้เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทางองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยถือว่าบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ จำกัดกระทำผิดสัญญาและมีการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาประการใด สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 จึงใช้บังคับได้ หาตกเป็นโมฆะไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาในประการที่สองที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล เพราะเข้าใจว่าโจทก์ได้รับสิทธิมาจากบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ จำกัดนิติกรรมการว่าจ้างจึงเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ตามฎีกาดังกล่าวจำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้มาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาในประการที่สามตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า คดีนี้มีอายุความ 2 ปี และอายุความเริ่มนับแต่วันที่ 1มกราคม 2539 เพราะเป็นการว่าจ้างพิมพ์สมุดโทรศัพท์ประจำปี 2539 ซึ่งก่อนหน้านั้นบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด จะแจกจ่ายสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์หน้าเหลืองชินวัตรก่อนวันที่ 1 มกราคม ของปี ตามข้อสัญญาในเอกสารหมาย ล.1 ระหว่างบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เห็นว่า สัญญาเอกสารหมาย ล.1เป็นความรับผิดระหว่างบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นคู่สัญญา แต่ความรับผิดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นไปตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 เมื่อสัญญาเอกสารหมาย จ.4 มิได้ให้ถือเอาสัญญาเอกสารหมาย ล.1 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเอกสารหมาย จ.4 การนับอายุความจึงต้องแยกจากกัน สัญญาเอกสารหมาย จ.4 หน้าหลังกำหนดเงื่อนไขไว้ในข้อ 1 ว่าการชำระเงินให้ชำระภายใน 30 วัน นับจากวันที่ที่ระบุในใบแจ้งหนี้ จึงต้องนับอายุความนับแต่นั้นเพราะเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ ส่วนก่อนหน้านั้นยังไม่มีสิทธิทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/13 หาใช่เริ่มนับแต่วันทำสัญญาหรือถือเอาตามสัญญาเดิมคือในเดือนมกราคม ดังที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเคยทำไว้กับบริษัทชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด ไม่ จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือประกอบกิจการเพื่อรับจ้างทำของให้ทำการโฆษณาสินค้า โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำ สิทธิเรียกร้องจึงมีอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) เมื่อตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6 ระบุวันที่ครบกำหนดชำระไว้ เป็นวันที่ 30 กรกฎาคม 2539 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายในกำหนด 2 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share