คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4215/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายซึ่งฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องหรือนำสืบว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้จำนวนเท่าใดก็ต้องปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 69 วรรคสาม เนื่องจากบทบัญญัติในมาตรา 69 วรรคสาม เป็นบทลงโทษที่ขยายความมาจากบทบัญญัติในมาตรา 69 วรรคสอง โดยแยกความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 2 เฉพาะมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีนที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องลงโทษตามวรรคสาม แต่หากเป็นกรณีมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีน ที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่าหนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป ต้องลงโทษตามวรรคสี่ ดังนั้น การจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เฉพาะมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีน จึงต้องได้รับโทษตามมาตรา 69 วรรคสามหรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 69 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสองและวรรคสาม (ที่ถูกมาตรา 69 วรรคสาม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายฝิ่น จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า จำเลยมีฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จำนวน 14 ห่อ น้ำหนัก 25.19 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายฝิ่นดังกล่าวไปจำนวน 2 ห่อ ให้แก่สายลับ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทงลงโทษโดยมิได้กำหนดบทมาตราของแต่ละกระทงความผิดลงไปด้วย และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็วินิจฉัยเพียงว่า ความผิดฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายฝิ่นตามฟ้องมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปีตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 69 วรรคสาม เท่ากันทั้งสองฐาน โดยมิได้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทำให้จำเลยไม่ทราบว่าจำเลยถูกลงโทษจำคุก 5 ปี และ 3 ปี ตามมาตรา 69 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 69 วรรคสาม นั้น เป็นบทลงโทษที่ขยายความมาจากบทบัญญัติในมาตรา 69 วรรคสอง โดยแยกความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เฉพาะมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีน ที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องลงโทษตามวรรคสาม แต่หากเป็นกรณีมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีน ที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่าหนึ่งร้อยกรัมขึ้นไปก็ลงโทษตามวรรคสี่ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 ต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสอง ยกเว้นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เฉพาะมอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีน ต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสามหรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี สำหรับคดีนี้ ยาเสพติดให้โทษที่เป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นฝิ่น แม้จะไม่ปรากฏว่าฝิ่นของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด แต่ก็ปรากฏว่าฝิ่นของกลางทั้ง 14 ห่อ มีน้ำหนัก 25.19 กรัม การมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งฝิ่นจำนวน 14 ห่อก็ดี การจำหน่ายฝิ่นจำนวน 2 ห่อก็ดี ต้องถือว่าฝิ่นทั้งสองจำนวนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม การมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จึงเป็นความผิดและต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสาม ส่วนการจำหน่ายฝิ่นก็เป็นความผิดและต้องถูกลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสาม เช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งฝิ่น จำคุก 5 ปี และฐานจำหน่ายฝิ่น จำคุก 3 ปี ตามมาตรา 69 วรรคสาม จึงชัดเจนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปว่า ศาลล่างทั้งสองวางโทษก่อนลดในความผิดฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี หนักเกินสมควรหรือไม่ เห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 20 ให้ยกเลิกความในมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยข้อความในมาตรา 69 วรรคสาม ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มีบทกำหนดโทษแตกต่างจากกฎหมายเดิมและมีลักษณะเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการการะทำความผิดในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยในการกระทำความผิดทั้งสองข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อพิเคราะห์ถึงฝิ่นของกลางว่ามีน้ำหนักเพียง 25.19 กรัม โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าน้ำหนัก 25.19 กรัม คือปริมาณสารบริสุทธิ์ของฝิ่น จึงสมควรลงโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นต่ำสุดที่กฎหมายบัญญัติ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนความผิดฐานจำหน่ายฝิ่นตามมาตรา 69 วรรคสาม นั้น โทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยนั้นเป็นโทษขั้นต่ำตามมาตรา 69 วรรคสาม ของกฎหมายที่แก้ไขใหม่อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุต้องแก้ไขกำหนดโทษจำคุกของจำเลยแต่อย่างใด”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) เฉพาะฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานจำหน่ายฝิ่นแล้วเป็นจำคุก 6 ปี ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share