คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4064/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงระหว่างบริษัท ท. ผู้ส่ง กับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งผ่านทางจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเงื่อนไขในการขนส่งกำหนดว่า ผู้ส่งมีหน้าที่เพียงหีบห่อและผูกมัดสินค้าม้วนเหล็กไว้บนฐานรองไม้ให้เรียบร้อยแล้วส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือ โดยต้องชำระเงินทั้งค่าระวางและค่ารัดตรึงสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งไปในคราวเดียวกัน จากนั้นทางฝ่ายผู้ขนส่งตามสัญญารับขนระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไปทั้งในเรื่องการบรรจุ การรัดตรึงสินค้าและการขนส่ง และตามใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 2 ออกให้ไว้แก่บริษัท ท. อันถือเป็นหลักฐานแห่งการรับสินค้า ระบุไว้ว่าผู้ขนส่งสินค้ารับสินค้าไว้ในสภาพเรียบร้อยดีและไม่มีการบันทึกข้อสงวนเกี่ยวกับสภาพสินค้าและการหีบห่อเมื่อสินค้าเกิดความเสียหายขึ้นในระหว่างการขนส่ง จึงถือไม่ได้ว่าความเสียหายเกิดจากความผิดของบริษัท ท. ผู้ส่ง หากแต่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาที่ทำกับบริษัท ท. ที่ไม่ได้บรรจุและรัดตรึงสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ และไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลสินค้าขณะอยู่ในความดูแลของตนเองให้ดีพอ เมื่อความเสียหายไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ส่ง ผู้ขนส่งจึงไม่อายปฏิเสธความรับผิดชอบ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 52 (9) ได้ เมื่อผู้ขนส่งต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ตกลงทำสัญญารับขนสินค้าพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จึงต้องรับผิดตามสัญญาด้วย เมื่อ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดระบุข้อยกเว้นให้ตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศไม่ต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง ความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 824 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งบังคับใช้กับสัญญาโดยทั่วไป
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายของสินค้าม้วนเหล็กระบุจำนวนสินค้าม้วนเหล็กและเลขที่ของสินค้าม้วนเหล็กรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 31,676.40 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินบาทจำนวน 1,369,154.01 บาท และปรากฏตามเอกสารซึ่งโจทก์นำสืบว่าเป็นรายงานการสำรวจความเสียหายพร้อมคำแปลระบุรายละเอียดค่าเสียหายเป็นดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทจำนวนตรงกัน โดยมีรายละเอียดของสินค้าม้วนเหล็กและเลขที่ของสินค้าม้วนเหล็กนอกเหนือจากที่ระบุในฟ้องแต่ตรงกับที่โจทก์ระบุขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ระบุในคำฟ้องผิดพลาดไป การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์เพื่อขอเพิ่มเติมจำนวนสินค้าม้วนเหล็กที่ได้รับความเสียหายเป็นการแก้ไขรายละเอียดให้ตรงตามยอดค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ระบุไว้ตั้งแต่แรก จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังจากที่โจทก์ได้สืบพยานไปแล้ว 1 ปาก ก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 60 ในกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า” ส่วนมาตรา 60 บัญญัติว่า การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวไปนี้… (4) ผู้ส่งของได้แจ้งราคาของที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับโดยแสดงราคาของนั้นไว้ในใบตราส่ง เมื่อพิจารณาใบตราส่งไม่ปรากฏว่าใบตราส่งได้ระบุราคาของหรือสินค้าเหล็กม้วนพิพาทไว้ กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่มิให้ใช้มาตรา 58 บังคับตามความในมาตรา 60 ดังกล่าว จึงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า แต่ในกรณีที่คำนวณราคาของหรือสินค้าที่สูญหายหรือเสียหายได้มาตรา 61 แล้ว ปรากฏว่าของนั้นราคาต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ดังกล่าวข้างต้นให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น การคำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายมีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 61 ในกรณีของสูญหายหรือเสียหายทั้งหมด ให้คำนวณเท่ากับราคาที่ของนั้นจะพึงมีในเวลาที่พึงส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ถ้าของนั้นสูญหายหรือเสียหายบางส่วนให้คำนวณตามส่วนโดยเทียบกับราคาของอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นเหล็กสแตนเลสมีลักษณะม้วนเป็นวงกลมทบกันหลายชั้น แต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการระบุจำนวนสินค้าเป็นม้วนที่บรรจุในตู้สินค้าแต่ละตู้ ดังนั้น แผ่นเหล็กสแตนเลส 1 ม้วน ย่อมถือเป็น 1 หน่วยการขนส่ง และเนื่องจากแผ่นเหล็กสแตนเลสดังกล่าวแต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลกรัม การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องคำนวณเป็นจำนวนเงินตามน้ำหนักสุทธิของแต่ละม้วนที่เสียหายในอัตรากิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งมีจำนวนเงินมากกว่าการคำนวณจากหน่วยการขนส่งในอัตราม้วนละ 10,000 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าประเภทแผ่นเหล็กสแตนเลสจำนวน 36 ม้วน ซึ่งเป็นสินค้าของบริษัทไทยน็อกซ์ สตีล จำกัด ผู้เอาประกันภัย โดยสินค้าดังกล่าวจะถูกขนส่งทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีไปส่งให้แก่บริษัทยูสินอร์ สแตนเลส ยูเอสเอ จำกัด ผู้รับตราส่งที่เมืองลอสแองเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสินค้ามาถึงปลายทาง บริษัทยูสินอร์ สแตนเลส ยูเอสเอ จำกัด ผู้รับตราส่งได้ออกของกับการท่าเรือลอสแองเจลีส ปรากฏว่าสินค้าบางส่วนเสียหาย โดยบริษัทยูสินอร์ สแตนเลส ยูเอสเอ จำกัด ผู้รับตราส่งเรียกค่าเสียหายจำนวน 31,676.40 ดอลลาร์สหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2543 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 43.22 บาท) คิดเป็นเงินไทยจำนวน 1,369,144.01 บาท จากโจทก์ ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสาม โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทยูสินอร์ สแตนเลส ยูเอสเอ จำกัด ผู้รับตราส่งตามเงื่อนไขการประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,369,155.01 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 32,915.96 บาท รวมเป็นเงิน 1,402,069.97 บาท แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 1,402,069.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,369,154.01 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,311,379.07 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ในการดำเนินการส่งสินค้าเหล็กม้วนไปยังประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทไทยน็อกซ์ สตีล จำกัด เพียงแต่ส่งมอบสินค้าเหล็กม้วนที่หีบห่อและผูกมัดไว้บนฐานรองไม้เรียบร้อยแล้วที่ท่าเรือและชำระค่าระวางและค่ารัดตรึงสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 จากนั้นก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการบรรจุสินค้าหรือรัดตรึงสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์อีก ซึ่งบ่งชี้ว่า ความตกลงระหว่างบริษัทไทยน็อกซ์ สตีล จำกัด ผู้ส่งตกลงกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งผ่านทางจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเงื่อนไขในการขนส่งนั้น ผู้ส่งมีหน้าที่เพียงหีบห่อและผูกมัดสินค้าม้วนเหล็กไว้บนฐานรองไม้ให้เรียบร้อยแล้วส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือ โดยต้องชำระเงินทั้งค่าระวางและค่ารัดตรึงสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งไปในคราวเดียวกัน จากนั้นทางฝ่ายผู้ขนส่งตามสัญญารับขนระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทไทยน็อกซ์ สตีล จำกัด จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไปทั้งในเรื่องการบรรจุ การรัดตรึงสินค้าและการขนส่ง โดยอาจจะดำเนินการเองหรือจ้างผู้อื่นให้ดำเนินการแทนก็ได้ ผู้ส่งไม่มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบดูแลในขั้นตอนการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์หรือรัดตรึงสินค้า หากแต่เป็นหน้าที่ทางฝ่ายจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งซึ่งมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการแทน เมื่อตามใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 2 ออกให้ไว้แก่บริษัทไทยน็อกซ์ สตีล จำกัด อันถือเป็นหลักฐานแห่งการรับสินค้าระบุไว้ว่าผู้ขนส่งรับสินค้าไว้ในสภาพเรียบร้อยดี และไม่มีการบันทึกข้อสงวนเกี่ยวกับสภาพสินค้าและการหีบห่อ กับนายบรรจบพนักงานของจำเลยที่ 2 เองก็ยอมรับว่าขณะบริษัทไทยน็อกซ์ สตีล จำกัด ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือนั้น สินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อยดี และตามภาพถ่ายความเสียหายของสินค้าม้วนเหล็กก็มีร่องรอยการเลื่อนของฐานรองไม้ เนื่องจากการบรรจุและรัดตรึงสินค้าในตู้ไม่ดีพอหรือจากการยกเคลื่อนย้ายตู้ขาดความระมัดระวังทำให้เกิดการกระแทกอย่างหนัก อันน่าจะเป็นความบกพร่องในการบรรจุและรัดตรึงสินค้า จึงถือไม่ได้ว่าความเสียหายเกิดจากความผิดของบริษัทไทยน็อกซ์ สตีล จำกัด ผู้ส่ง หากแต่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในฐานเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาที่ทำกับบริษัทไทยน็อกซ์ สตีล จำกัด ที่ไม่ได้บรรจุและรัดตรึงสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ และไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลสินค้าขณะอยู่ในความดูแลของตนเองให้ดีพอ เมื่อความเสียหายไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ส่ง ผู้ขนส่งจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 (9) ได้ เมื่อผู้ขนส่งต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ตกลงทำสัญญารับขนสินค้าพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศจึงต้องรับผิดตามสัญญาด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสอง บัญญัติว่า รับขนของทางทะเลให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องในมูลรับขนของทางทะเล จึงต้องบังคับด้วยพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 เมื่อตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง การที่นำบทกฎหมายอื่นมาปรับใช้ต่อจำเลยที่ 2 จึงขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดระบุข้อยกเว้นให้ตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศไม่ต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง ความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 824 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบังคับใช้กับสัญญาโดยทั่วไป
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายของสินค้าม้วนเหล็กระบุจำนวนสินค้าม้วนเหล็กและเลขที่ของสินค้าม้วนเหล็กรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 31,676.40 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินบาทจำนวน 1,369,154.01 บาท และปรากฏตามเอกสารซึ่งโจทก์นำสืบว่า เป็นรายงานการสำรวจความเสียหายพร้อมคำแปลระบุรายละเอียดค่าเสียหายเป็นดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทจำนวนตรงกัน โดยมีรายละเอียดของสินค้าม้วนเหล็กและเลขที่ของสินค้าม้วนเหล็ก นอกเหนือจากที่ระบุในฟ้องแต่ตรงกับที่โจทก์ระบุขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ระบุในคำฟ้องผิดพลาดไป การขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์เพื่อขอเพิ่มเติมจำนวนสินค้าม้วนเหล็กที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวเป็นการแก้ไขรายละเอียดให้ตรงตามยอดค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ระบุไว้ตั้งแต่แรกจึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังจากที่โจทก์สืบพยานไปแล้ว 1 ปาก ก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 60 ในกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้ว แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า” ส่วนมาตรา 60 บัญญัติว่า การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวไปนี้… (4) ผู้ส่งของได้แจ้งราคาของที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับ โดยแสดงราคาของนั้นไว้ในใบตราส่ง เมื่อพิจารณาใบตราส่งแล้วไม่ปรากฏว่าใบตราส่งดังกล่าวได้ระบุราคาของหรือสินค้าเหล็กม้วนพิพาทไว้ในที่ใดเลย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่มิให้ใช้มาตรา 58 บังคับตามความในมาตรา 60 ดังกล่าว จึงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า แต่ในกรณีที่คำนวณราคาของหรือสินค้าที่สูญหายหรือเสียหายได้ตามมาตรา 61 แล้ว ปรากฏว่าของนั้นราคาต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ดังกล่าวข้างต้น ให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น การคำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายมีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 61 ในกรณีของสูญหายหรือเสียหายทั้งหมด ให้คำนวณเท่ากับราคาที่ของนั้นจะพึงมีในเวลาที่พึงส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ถ้าของนั้นสูญหายหรือเสียหายบางส่วนให้คำนวณตามส่วนโดยเทียบกับราคาของอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเที่ยมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นเหล็กสแตนเลสมีลักษณะม้วนเป็นวงกลมทบกันหลายชั้น แต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการระบุจำนวนสินค้าเป็นม้วนที่บรรจุในตู้สินค้าแต่ละตู้ ดังนั้น แผ่นเหล็กสแตนเลส 1 ม้วน ย่อมถือเป็น 1 หน่วยการขนส่ง และเนื่องจากแผ่นเหล็กสแตนเลสดังกล่าวแต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลกรัม การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องคำนวณเป็นจำนวนเงินตามน้ำหนักสุทธิของแต่ละม้วนที่เสียหายในอัตรากิโลกรัม 30 บาท ซึ่งจะมีจำนวนเงินมากกว่าการคำนวณจากหน่วยการขนส่งในอัตราม้วนละ 10,000 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงินบาท โดยให้คำนวณจากจำนวนค่าเสียหายของสินค้าแผ่นเหล็กสแตนเลสแต่ละม้วน คือ ม้วนที่ P.50106165 จำนวน 12,626.44 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ P.50106167 จำนวน 5,946.26 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ P.50105958 จำนวน 1,128.60 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ P.50105067 จำนวน 912.06 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ P.50104360 จำนวน 640.62 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ P.51104362 จำนวน 606.60 ดอลลาร์สหรัฐ และม้วนที่ P. 50105889 จำนวน 1,022.10 ดอลลาร์สหรัฐ นำมาคิดเป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในอัตราขายถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่างๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2543 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ หากกรณีเป็นวันหยุดทำการหรือมีเหตุอื่นที่ทำให้ไม่มีอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันดังกล่าวให้ถือเอาอัตราแลกเปลี่ยนในวันสุดท้ายก่อนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2543 ถ้าไม่สามารถใช้อัตราด้งกล่าวได้ก็ให้ใช้อัตราขายของธนาคารพาณิชย์ธนาคารใดธนาคารหนึ่งในวันดังกล่าว แต่ไม่ให้เกินอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 43.22 บาท ตามที่ขอในฟ้อง และเมื่อคำนวณความเสียหายแต่ละม้วนเป็นเงินบาทดังกล่าวแล้ว ให้นำไปเปรียบเทียบกับจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งแต่ละม้วนดังนี้ ม้วนที่ P.50106165 จำนวน 220,840.80 บาท ม้วนที่ P.50106167 จำนวน 240,600 บาท ม้วนที่ P.50105958 จำนวน 256,500 บาท ม้วนที่ P.50105067 จำนวน 207,286.20 บาท ม้วนที่ P.50104360 จำนวน 139,595.40 บาท ม้วนที่ P.501104.62 จำนวน 137,863.50 บาท ม้วนที่ P.50105889 จำนวน 232,295.40 บาท หากจำนวนเงินความเสียหายของแผ่นเหล็กสแตนเลสม้วนใดที่คำนวณเป็นเงินบาทแล้วต่ำกว่าจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในม้วนนั้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินตามจำนวนความเสียหายที่ต่ำกว่านั้นแก่โจทก์ แต่ถ้าจำนวนเงินความเสียหายที่คำนวณเป็นเงินบาทม้วนใดสูงกว่าจำนวนเงินจำกัดความรับผิดขนส่งในม้วนนั้นให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ต้องชำระดังกล่าวข้างต้น นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2544 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share