คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986-987/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบรรยายฟ้องว่า จำเลยเบิกความเท็จต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีนั้น ไม่ใช่ข้อกล่าวหาว่าจำเลยแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา 137,267
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 180 แต่ให้ลงโทษกระทงหนักสำนวนละ 2 ปี มิได้กำหนดโทษตามมาตรา180 ไว้เท่าใด โดยเฉพาะกระทงความผิดตามมาตรา 180 นี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน มิได้แก้บท และลงโทษจำคุกเพียง 1 ปี เป็นการแก้ไข จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะกระทำความผิดตามมาตรา 180 นี้ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันปลอมสัญญากู้และจำเลยทั้งสองได้ใช้กลฉ้อฉลทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามสัญญากู้ด้วยการสมคบกัน เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าได้ฟ้องกล่าวหาถึงจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 ด้วย และเมื่อศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า จำเลยได้ร่วมกระทำในการนำสัญญากู้ซึ่งเป็นเอกสารเท็จมาแสดงเป็นพยานหลักฐานในคดี ฉะนั้น ใครจะเป็นผู้นำสัญญากู้มายื่นจึงไม่ใช่ข้อสำคัญที่จำเลยจะอ้างขึ้นเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดตามมาตรา 180 ได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

สำนวนที่ 1 โจทก์ฟ้องว่า นายฉอยจำเลยที่ 1 กับนายจุ่นย้ง จำเลยที่ 2 สมคบกันทำปลอมเอกสารสัญญากู้อันเป็นเอกสารสิทธิขึ้นหนึ่งฉบับมีใจความว่า นายฉอยจำเลยได้กู้เงินไปจากนายจุ่นย้งจำเลย 120,000 บาท โดยเจตนาทุจริตเพื่อให้เป็นเอกสารที่แท้จริงอาจเกิดการเสียหายแก่โจทก์และผู้อื่น จำเลยได้สมคบกันนำเอกสารสัญญากู้ฉบับนี้มายื่นฟ้องและใช้ ณ ศาลจังหวัดกาญจนบุรีในสำนวนคดีแพ่งดำที่ 65/2503 และจำเลยทั้งสองได้ใช้กลฉ้อฉลทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อจะได้ไปขอเฉลี่ยหนี้ในคดีแพ่งแดงที่ 1529/03 ของศาลแพ่ง ระหว่างนางก้อนทอง สว่างวงศ์ โจทก์ นายฉอย แซ่ล้อ กับพวก จำเลย ศาลจังหวัดกาญจนบุรีพิพากษาตามยอม และจำเลยที่ 2 ได้นำสำเนาคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวไปร้องขอเฉลี่ยหนี้ในศาลแพ่งแดงที่ 1529/2503 ของศาลแพ่งแล้ว แต่เนื่องจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้เป็นบุคคลล้มละลายจำเลยที่ 2 จึงสมคบกันกับจำเลยที่ 1 นำเอกสารสิทธิสัญญากู้มายื่นคำขอรับชำระหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นเงิน 192,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้สาบานเบิกความต่อศาลนี้ (ศาลจังหวัดกาญจนบุรี) ว่า “ฯลฯพ.ศ. 2499 เงินที่กู้นายจุ่นย้งมาหนึ่งแสนสองหมื่นบาทขาดทุนคงเหลือเงินสามสี่หมื่นบาท ฯลฯ” และจำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อนายวิมล ราชเทวินทร์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ศาลจังหวัดกาญจนบุรีให้จดข้อความอันเป็นเท็จว่า “ฯลฯ เงินที่ติดค้างข้าฯ นั้นคือเงินที่ยืมจากข้าฯ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2499 ยืมจากข้าฯ ไปเป็นเงิน 120,000 บาท ฯลฯ นายฉอยได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้วในวันทำสัญญา ฯลฯ ข้าฯ ขอยืนยันว่าหนี้สินของข้าฯ ที่ยื่นไว้เป็นความจริง ฯลฯ”และจำเลยที่ 2 ได้แสดงสัญญากู้เงินอันเป็นเท็จต่อนายวิมล ราชเทวินทร์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลจังหวัดกาญจนบุรีผู้สอบสวนพิจารณาคดีล้มละลายด้วย

ความจริงจำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้เงินจากจำเลยที่ 2 ตามวันและจำนวนเงินที่ปรากฏในสัญญากู้เงินฉบับนั้นเลย การกระทำของจำเลยทั้งสองสมยอมกันเพื่อโกงเจ้าหนี้โดยทุจริต ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 180, 264, 265, 267, 268, 83, 90 และ 91

สำนวนที่ 2 โจทก์ฟ้องนายฉอยจำเลยที่ 1 กับนายเล็กจำเลยที่ 2 โดยกล่าวฟ้องทำนองเดียวกับฟ้องในสำนวนที่ 1 แตกต่างกันเฉพาะจำเลยที่ 2 ร่วมการกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 วันเวลาที่กระทำผิดและข้อความที่จำเลยที่ 1 เบิกความต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี

นายฉอยจำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน ส่วนนายจุ่นย้งกับนายเล็กจำเลยที่ 2 ทั้ง 2 สำนวน โจทก์ขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีแล้ว

ศาลชั้นต้นฟังว่านายฉอยจำเลยได้ทำผิดจริงดังฟ้อง พิพากษาว่านายฉอยจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 180, 264, 265, 267, 268 ให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิซึ่งเป็นกระทงหนักตาม มาตรา 265 แต่กระทงเดียว จำคุกนายฉอยจำเลยสำนวนละ 2 ปี รวม 4 ปี

นายฉอยจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า นายฉอยจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 วรรคแรกทั้งสองสำนวน ต่างกรรมกันและโทษเท่ากันอาศัยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้จำคุกนายฉอยจำเลยหนึ่งปี ส่วนความผิดมาตรา 137, 264, 265 และ 268 ให้ยก

โจทก์และนายฉอยจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว ฎีกาโจทก์ที่อ้างว่าศาลจังหวัดกาญจนบุรีเป็นเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามมาตรา 137, 267 ด้วยนั้น เห็นว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่านายฉอยจำเลยเบิกความเท็จต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี ไม่ใช่ข้อกล่าวหาว่านายฉอยจำเลยแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าศาลจังหวัดกาญจนบุรีเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มิได้กล่าวหานายฉอย นายฉอยจำเลยไม่มีความผิดตามสองมาตรานี้ ชอบแล้ว

ตามฎีกาจำเลยที่ว่าจำเลยแสดงพยานหลักฐานสำคัญอันเป็นเท็จในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 นั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาว่านายฉอยมีความผิดตามมาตรา 180 แต่ให้ลงโทษกระทงหนักสำนวนละ 2 ปี โดยมิให้กำหนดโทษตามมาตรา 180 ไว้เท่าใดก็ตามโดยเฉพาะกระทงความผิดตามมาตรา 180 นี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยมิได้แก้บทให้ลงโทษจำคุกนายฉอยจำเลยเพียงหนึ่งปีเท่านั้นเป็นการแก้ไขเล็กน้อย นายฉอยจำเลยจะฎีกาคัดค้านปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะในกระทงผิดตามมาตรา 180 นี้ไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ตามที่นายฉอยจำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์บรรยายฟ้องมิได้กล่าวหาเอาผิดแก่นายฉอยจำเลยตามมาตรา 180นี้ ได้พิเคราะห์ฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันปลอมสัญญากู้ดังกล่าว และจำเลยทั้งสองได้ใช้กลฉ้อฉลทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามสัญญากู้ด้วย การสมคบกันเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าได้ฟ้องกล่าวหาถึงนายฉอยจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 นี้ด้วย ตามที่นายฉอยจำเลยโต้แย้งว่าไม่ได้เป็นผู้นำสัญญากู้แสดงต่อศาล จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 180 นั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า นายฉอยจำเลยได้ร่วมกระทำในการนำสัญญากู้ซึ่งเป็นเอกสารเท็จมาแสดงเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี ฉะนั้น ใครจะเป็นผู้นำสัญญากู้มายื่นจึงไม่ใช่ข้อสำคัญที่นายฉอยจำเลยจะอ้างขึ้นเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดตามมาตรานี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษนายฉอยจำเลยตามมาตรานี้ จึงไม่นอกฟ้องนอกคำขอ

พิพากษายืน

Share