แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ได้สิ้นอายุการใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2535 แต่ต่อมาเมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 ประกาศใช้ อันมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2535 โดยกำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาฉบับก่อนซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือ เนื่องจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ทำการสำรวจเขตที่ดินเพื่อเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง พ.ศ. 2530 เพื่อประโยชน์ในการสร้างทางพิเศษสายพระโขนง-หัวลำโพง-บางซื่อและสาธร-ลาดพร้าว ยังไม่แล้วเสร็จ การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 เป็นการออกเพื่อดำเนินการในกิจการเดียวกันกับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนง พ.ศ. 2530และต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เพื่อสร้างทางพิเศษ โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายสาธร-ลาดพร้าว(บริเวณโรงซ่อมบำรุง) กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน อันอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ดังนั้น การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ จำเลยที่ 2 กระทำโดยมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกับโจทก์ทั้งสองได้ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ จึงไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ย่อมไม่ตกเป็นโมฆะ
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดดังนี้เมื่อปรากฏตามสำเนาหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนที่จำเลยทั้งสองอ้างส่งศาลมีข้อความประทับไว้ว่า รับเรื่องแล้ว โดยมีลายมือชื่อผู้รับและผู้ส่งกับวันที่รับหนังสือ คือวันที่ 8 เมษายน 2536 นอกจากนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณา ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 8เมษายน 2536 ที่โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2536 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 60 วัน ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และโจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ แล้วโจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯกันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 ตามเอกสารหมาย จ.7 อันอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ทำให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนจากโจทก์ทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 10 เมื่อการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ ที่ถูกเวนคืนจำเลยที่ 1 กระทำโดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 การดำเนินการของฝ่ายจำเลยในการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง จึงต้องอาศัยอำนาจที่ให้ไว้ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 และเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องเวนคืนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องเวนคืนจึงต้องคำนึงถึง มาตรา 21(1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ
เจ้าของที่ดินได้ทำการพัฒนาที่ดินภายหลังที่ทราบว่ามีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเพื่อให้ที่ดินมีความเจริญขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เวนคืนย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนในส่วนที่พัฒนาให้เจริญขึ้นนั้น
โจทก์กับเจ้าของที่ดินข้างเคียงซึ่งมีที่ดินอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนงพ.ศ. 2530 และตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 ได้ร่วมกันทำการแบ่งแยกที่ดินและทำทางเข้าออกที่ดินในบริเวณดังกล่าวในขณะที่รู้อยู่แล้วว่าที่ดินเหล่านั้นจะต้องถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และโดยมีเจตนาในการแบ่งแยกที่ดินและใช้ส่วนหนึ่งของที่ดินที่แบ่งแยกนั้นสร้างทางลูกรังขึ้น เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าที่ดินส่วนมากในบริเวณนั้นอยู่ติดทางเพื่อให้ได้เงินค่าทดแทนที่ดินมากขึ้นอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากกำหนดเงินค่าทดแทนของโจทก์โดยถือว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์มีสภาพและที่ตั้งในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับอยู่ติดกับทางลูกรังที่ฝ่ายโจทก์กระทำขึ้นโดยไม่สุจริตดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าที่ควรจะได้รับอย่างกรณีปกติ ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่สังคม กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนในคดีนี้มีด้านหนึ่งอยู่ติดทางหรืออยู่ติดถนนสาธารณะ
สภาพที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลงของโจทก์ในขณะที่ถูกเวนคืนยังไม่ได้รับการพัฒนา และไม่มีถนนหรือทางสาธารณะเข้าถึงที่ดินทั้งสองแปลง การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้พิจารณากำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนโดยถือตามราคาบัญชีประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ซึ่งได้ประเมินราคาที่ดินเป็นรายแปลง โดยทางราชการได้สำรวจถึงสภาพทำเลและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ ตลอดจนนำราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินและข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ประกอบในการพิจารณาประเมินราคาที่ดิน โดยคำนึงถึงราคาในขณะประกาศใช้และราคาในอนาคตตามสภาพความเจริญของที่ดินเป็นเกณฑ์ ตามบัญชีประเมินทุนทรัพย์ดังกล่าว กรมที่ดินได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2538 กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินของโจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 ใช้ราคาประเมินของที่ดินที่อยู่ติดซอยตารางวาละ 30,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 ซึ่งเป็นที่ดินทางภารจำยอมตารางวาละ 15,000 บาทซึ่งเชื่อได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ ตารางวาละไม่เกิน 30,000 บาท ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 ตารางวาละ 30,000 บาท จึงชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) อันเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนแล้ว
ส่วนการที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 เป็นที่ดินที่ได้จดทะเบียนภารจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงอื่น 13 แปลง โดยการกระทำที่ไม่สุจริตเพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นกว่าที่ควรจะได้รับอย่างกรณีปกติ โจทก์ผู้ถูกเวนคืนจึงต้องรับผลเสียอันเกิดจากการจดทะเบียนภารจำยอมของที่ดินแปลงนี้เอง การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 ตารางวาละ 15,000 บาท เพราะสภาพที่ดินตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินแปลงอื่นนั้น เป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินที่จะต้องเวนคืนทั้งสองแปลงที่ถูกเวนคืน และโจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นโดยบรรยายฟ้องถึงสิทธิในที่ดินและความเสียหายของโจทก์ทั้งสองรวมกันมา มิได้ระบุแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน และเป็นการฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในที่ดินที่จะต้องเวนคืนในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวม การคิดค่าขึ้นศาลในแต่ละชั้นศาลจึงต้องคำนวณรวมกันจากจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง โจทก์ทั้งสองจึงต้องชำระค่าขึ้นศาลรวมกันไม่เกิน200,000 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ(1)(ก)การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นคนละ 200,000 บาทจึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย ศาลฎีกาให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นในส่วนที่เรียกเก็บเกินมาให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 และ 138118 เลขที่ 2857 และ 2853 ตามลำดับ เนื้อที่ 21 ตารางวา และ 3 งาน96.8 ตารางวา ซึ่งอยู่ในเขตเวนคืน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530 และมีอายุ 5 ปี เพื่อก่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาย พระโขนง-หัวลำโพง-บางซื่อ และสายสาธร-ลาดพร้าว คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2531 ซึ่งเป็นราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา21(3) ที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 กำหนดให้ตารางวาละ15,000 บาท เป็นเงิน 315,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 กำหนดให้ตารางวาละ 30,000 บาท เป็นเงิน 11,904,000 บาท รวมเป็นเงิน 12,219,000 บาท และได้ทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 ภายหลังพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 หมดอายุ ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ให้อำนาจจำเลยทั้งสองตกลงซื้อขาย เข้าสำรวจ และกำหนดราคาเบื้องต้นได้เฉพาะระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลบังคับเท่านั้น ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาธร เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 มีอายุ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 จำเลยทั้งสองจะต้องตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และเจรจาตกลงซื้อขายใหม่ แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายเพราะไม่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 กำหนด โจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2536 ขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัย โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายหลังจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 หมดอายุแล้ว สัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองต้องโอนที่ดินคืนให้โจทก์ทั้งสองในสภาพเดิม หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาที่ดินตามราคาซื้อขายตามปกติในท้องตลาดและหากประสงค์จะเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 จะต้องเสนอตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ใหม่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ติดถนนเทียมร่วมมิตร อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร สามารถออกไปสู่ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระรามที่ 9 ถนนรามคำแหง และถนนลาดพร้าวได้โดยสะดวก มีสภาพได้รับการพัฒนาเป็นที่ดินเจริญแล้วใกล้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาตารางวาละ 180,000 บาทถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 417.8 ตารางวา เป็นเงิน 75,204,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้รับมาแล้ว 12,219,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระเงินให้อีก 62,968,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่รับเงินค่าที่ดินส่วนหนึ่งจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย 6,692,156 บาท รวมเป็นเงิน 69,677,156 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 และ 138118 คืนแก่โจทก์ทั้งสองโดยการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อมาเป็นของโจทก์ทั้งสองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการภายในกำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองถ้าไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาที่ดิน 69,677,156 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 62,958,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะคืนหรือใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนได้ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายทุกประการ การเข้าสำรวจและกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้กระทำขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับอยู่ หลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้วโจทก์ทั้งสองได้ทำบันทึกเป็นหนังสือแสดงเจตนายืนยันตกลงขายทรัพย์สินให้จำเลยที่ 1 แม้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 จะหมดอายุลงแล้วก็ตาม และขณะทำสัญญาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับอยู่แล้ว การเจรจาตกลงซื้อขายและการทำสัญญาซื้อขายที่ดินของโจทก์ทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมายจำเลยทั้งสองไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 เนื้อที่ 20 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 เนื้อที่ 396.8 ตารางวา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจำเลยที่ 2เป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนง พ.ศ. 2530 มีอายุ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายพระโขนง-หัวลำโพง-บางซื่อ แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จจึงมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร พ.ศ. 2535 มีอายุ 4 ปีนับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 และตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องเวนคืนทั้งสองแปลง ที่ดินของโจทก์ทั้งสองโฉนดเลขที่ 138113 ฝ่ายจำเลยกำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 15,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 ตารางวาละ30,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวกับจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 และได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 12,219,000 บาทไปแล้ว โดยนายประกอบจิตร์ รุ่งสุข ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสองให้ไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับฝ่ายจำเลยได้ทำบันทึกคำรับรองให้จำเลยที่ 1 ไว้ว่า ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และแม้ว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้หมดอายุลงแล้วก็ตาม ก็ยังมีความประสงค์ขายทรัพย์สินตามที่ได้แสดงเจตนาแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่าสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนงและเขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ได้สิ้นอายุการใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2535 แต่ต่อมาเมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535ประกาศใช้ อันมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2535 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาฉบับก่อนซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำการสำรวจเขตที่ดินเพื่อเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อประโยชน์ในการสร้างทางพิเศษสายพระโขนง-หัวลำโพง-บางซื่อ และสายสาธร-ลาดพร้าว ยังไม่แล้วเสร็จ การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรเขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 เป็นการออกเพื่อดำเนินการในกิจการเดียวกับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนง และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2530 และต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษ โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสาธร-ลาดพร้าว (บริเวณโรงซ่อมบำรุง) กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนตามเอกสารหมาย จ.7 อันอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตพระโขนง เขตห้วยขวางและเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ดังนั้น การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯเอกสารหมาย จ.7 นั้น จำเลยที่ 2 กระทำโดยมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกับโจทก์ทั้งสองได้ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ เอกสารหมาย จ.7ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายจึงไม่ตกเป็นโมฆะ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการที่สองว่าโจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์แจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงิน ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ไปรับเงินในวันที่ 8 เมษายน 2536 และได้ลงชื่อรับเงินไว้ในท้ายหนังสือฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536 แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองอ้างส่งสำเนาหนังสือฉบับดังกล่าว จึงไม่ปรากฏหลักฐานการรับเงินค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสอง เห็นว่า ตามสำเนาหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536 เอกสารหมาย ล.23 ตอนท้ายของข้อความในบรรทัดที่ 17 ของเอกสารฉบับนี้มีข้อความประทับไว้ว่ารับเรื่องแล้ว โดยมีลายมือชื่อผู้รับและผู้ส่งกับวันที่รับหนังสือคือวันที่ 8 เมษายน 2536 นอกจากนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณา ทั้งจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2536 ที่โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2536 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 60 วัน ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และโจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจากที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองกำหนดให้หรือไม่ เพียงใดเห็นว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯกันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 ตามเอกสารหมาย จ.7 อันอยู่ในระหว่างเวลาบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักรเขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ซึ่งจำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ทำให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนจากโจทก์ทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ เอกสารหมาย จ.7 จำเลยที่ 1 กระทำโดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 การดำเนินการของฝ่ายจำเลยในการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง จึงต้องอาศัยอำนาจที่ให้ไว้ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 และเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องเวนคืนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องเวนคืนจึงต้องคำนึงถึง มาตรา 21(1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 คือ ต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535คือวันที่ 29 สิงหาคม 2535 และราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ และราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกับสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ทั้งสองกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ปัญหาเกี่ยวกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ทั้งสองนั้น โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร อยู่ติดกับถนนเทียมร่วมมิตรซึ่งเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 4 ช่องเดินรถ สามารถออกสู่ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระรามที่ 9 ถนนรามคำแหงและถนนลาดพร้าวได้โดยสะดวก มีสภาพที่ได้รับการพัฒนา เป็นที่ดินที่เจริญแล้วตั้งอยู่ในที่เหมาะสมใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจการค้าตลอดจนอยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ประกอบกับจำเลยทั้งสองมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเพื่อหารายได้ในเชิงธุรกิจ และยังมอบที่ดินที่ที่เวนคืนบางส่วนให้แก่เอกชนผู้รับสัมปทานไปจัดสร้างศูนย์พาณิชยกรรม ดังนั้น ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเมื่อพิจารณาตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแล้วจะมีราคาตารางวาละ 180,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 138118 เลขที่ดิน 2853 ของโจทก์ทั้งสองออก ณ วันที่ 2 มกราคม 2533 รูปที่ดินแปลงนี้เป็นสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าทั้งสี่ด้านอยู่ติดที่ดินแปลงอื่น ไม่มีด้านใดอยู่ติดทางสาธารณะ ส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ 138113 เลขที่ดิน 2857 ออก ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2532 ไม่มีด้านใดอยู่ติดทางสาธารณะ และได้ความว่า ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองก่อนเวนคืนและขณะเวนคืนไม่มีทางสาธารณะผ่านสู่ถนนเทียมร่วมมิตรซอยท้ายสวน ที่พยานโจทก์เบิกความว่า สามารถเข้าไปถึงที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นซอยซึ่งทำขึ้นเอง ที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 สภาพที่ดินยังไม่มีการถมที่ และนายพงศ์โสภณ คุรุรัตน์ชัยกุล เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯพยานจำเลยทั้งสองเบิกความว่า หลังจากได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองแล้วได้มีการตรวจสอบที่ดินของโจทก์ทั้งสองปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองเลขที่ดิน 2857เนื้อที่ 21 ตารางวา มีสภาพเป็นทางมีการจดทะเบียนภารจำยอมให้ที่ดินแปลงอื่นใช้เป็นทางผ่านกว่า 10 โฉนด ส่วนที่ดินอีกแปลงหนึ่งเลขที่ดิน 2853 เนื้อที่ 396ตารางวา ในวันที่พระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2530 ใช้บังคับนั้น ที่ดินเลขที่ดิน 2853เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินเลขที่ดิน 155 ซึ่งมีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมรอบ ไม่มีทางรถยนต์เข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ปี 2532 เจ้าของที่ดินได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นหลายแปลง ส่วนที่ดินข้างเคียงคือเลขที่ดิน 49 ซึ่งเป็นของนางเอ๋ม คล้ายสวน ก็ไม่มีทางรถยนต์เข้าออกสู่ถนนสาธารณะเช่นกัน ในปี 2532 นางเอ๋มได้ซื้อทางออกเป็นที่ดินเลขที่ดิน 2638 ซึ่งอยู่ติดถนนเทียมร่วมมิตรเพื่อเป็นทางเข้าออกสู่ที่ดิน หลังจากนั้นประมาณปี 2532 ถึง 2533 ได้มีการแบ่งแยกที่ดินเลขที่ดิน 49 เป็นที่ดินประมาณ 10 แปลง โดยที่ดินเดิมเลขที่ดิน 49 ได้จัดให้เป็นทางที่ออกสู่ถนนเทียมร่วมมิตรและใช้ทางร่วมกับที่ดินเลขที่ 155 ซึ่งเป็นทางเช่นเดียวกันและอยู่ติดกัน และที่ดินแปลงเลขที่ 155 ก็แบ่งเป็นแปลงเลขที่ดิน 2853 ซึ่งอยู่ติดกับทางซึ่งเป็นโฉนดที่ดินแปลงเดิมคือเลขที่ดิน 155 การที่เจ้าของที่ดินได้ทำการพัฒนาที่ดินภายหลังที่ทราบว่ามีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเพื่อให้ที่ดินมีความเจริญขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เวนคืน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนในส่วนที่พัฒนาให้เจริญขึ้น แต่เนื่องจากการประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินในปี 2535 เป็นการประเมินตามข้อเท็จจริงซึ่งมีอยู่ในปี 2534 และ 2535 โดยเห็นว่าที่ดินเลขที่ดิน 2853 เป็นที่ดินติดซอยจึงประเมินให้ตารางวาละ 30,000 บาท ส่วนที่ดินแปลงเลขที่ดิน 2857 ซึ่งเป็นทางนั้นมีราคาลดลงเหลือตารางวาละ 15,000 บาท ตามปกติแล้วหากเป็นที่ดินตาบอดจะได้ราคาประเมินเพียงตารางวาละ 20,000 บาท ในเดือนธันวาคม 2533 และมกราคม 2534 มีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเลขที่ดิน 2866, 2869 และ 2850ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ในราคาตารางวาละ 5,000 บาทเศษ ที่ตั้งของที่ดินทั้งสามแปลงกับที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองปรากฏตามแผนที่เอกสารหมาย ล.29 เห็นว่าโจทก์ทั้งสองกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงซึ่งมีที่ดินอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 และตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตพระโขนง เขตห้วยขวางและเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ร่วมกันทำการแบ่งแยกที่ดินและทำทางเข้าออกที่ดินในบริเวณดังกล่าวในขณะที่รู้อยู่แล้วว่าที่ดินเหล่านั้นจะต้องถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (บริเวณโรงซ่อมบำรุง)เจตนาในการแบ่งแยกที่ดินและใช้ส่วนหนึ่งของที่ดินที่แบ่งแยกนั้นสร้างทางลูกรังขึ้นก็เพียงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าที่ดินส่วนมากในบริเวณนั้นอยู่ติดทางเพื่อให้ได้เงินค่าทดแทนที่ดินมากขึ้นเท่านั้น อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหากกำหนดเงินค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสองโดยถือว่า ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองมีสภาพและที่ตั้งในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตพระโขนง เขตห้วยขวางและเขตราชเทวี กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับอยู่ติดกับทางลูกรังที่ฝ่ายโจทก์ทั้งสองกระทำขึ้นโดยไม่สุจริตดังกล่าวเพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นกว่าที่ควรจะได้รับอย่างกรณีปกติ ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่สังคม ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องเวนคืนในคดีนี้มีด้านหนึ่งอยู่ติดทางหรืออยู่ติดถนนเทียมร่วมมิตรดังที่โจทก์ทั้งสองนำสืบและกล่าวอ้างในฎีกาที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้มีราคาถึงตารางวาละ 180,000 บาทแต่อย่างใด เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาและไม่มีถนนหรือทางสาธารณะเข้าถึงที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวกับที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้พิจารณากำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องถูกเวนคืนโดยถือตามราคาบัญชีประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2535 ของกรมที่ดิน ซึ่งได้ประเมินราคาที่ดินเป็นรายแปลง โดยทางราชการได้สำรวจถึงสภาพทำเลและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ตลอดจนนำราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินและข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ประกอบในการพิจารณาประเมินราคาที่ดิน โดยคำนึงถึงราคาในขณะประกาศใช้และราคาในอนาคตตามสภาพความเจริญของที่ดินเป็นเกณฑ์ ตามบัญชีประเมินทุนทรัพย์ดังกล่าวกรมที่ดินได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2538กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 ใช้ราคาประเมินของที่ดินที่อยู่ติดซอยตารางวาละ 30,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 ซึ่งเป็นที่ดินทางภารจำยอมตารางวาละ 15,000 บาท แล้วเชื่อว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่ 29 สิงหาคม 2535 ตารางวาละไม่เกิน 30,000 บาท ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 138118 ตารางวาละ 30,000 บาท นั้น ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) อันเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองผู้ถูกเวนคืนแล้ว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 เป็นที่ดินที่ได้จดทะเบียนภารจำยอมให้แก่ที่ดิน 13 แปลง โดยการกระทำที่ไม่สุจริตดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงต้องรับผลเสียอันเกิดจากการจดทะเบียนภารจำยอมของที่ดินแปลงนี้ จึงเห็นว่าที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 138113 ตารางวาละ 15,000 บาท เพราะสภาพที่ดินตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินแปลงอื่นนั้น เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว
อนึ่ง โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินที่จะต้องเวนคืนทั้งสองแปลงในคดีนี้ และโจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากจำเลยทั้งสองโดยบรรยายฟ้องถึงสิทธิในที่ดินและความเสียหายของโจทก์ทั้งสองรวมกันมา มิได้ระบุแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน และเป็นการฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในที่ดินที่จะต้องเวนคืนในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมการคิดค่าขึ้นศาลในแต่ละชั้นศาลจึงต้องคำนวณรวมกันจากจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องโจทก์ทั้งสองจึงต้องชำระค่าขึ้นศาลรวมกันไม่เกิน 200,000 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1)(ก) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นคนละ 200,000 บาท จึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นในส่วนที่เรียกเก็บเกินมาให้แก่โจทก์ทั้งสอง
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เสียเกินกว่า 200,000 บาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง