คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กำหนดหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดต้องให้โอกาสเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม ความเห็นของคณะกรรมการต้องมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่แจ้งชัดและต้องมีพยานหลักฐานที่สนับสนุนประกอบ หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและควบคุมตรวจสอบคำวินิจฉัยจึงเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ จำเลยเพียงแต่ให้โจทก์ชี้แจงในเรื่องที่บุคคลอื่นกระทำผิดวินัย ในทำนองเป็นการให้ข้อเท็จจริงแก่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงไม่เป็นกิจจะลักษณะว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบหรือเข้าใจข้อเท็จจริงในฐานะผู้ถูกกล่าวหา และมีโอกาสแสดงพยานหลักฐานเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ก็ไม่ปรากฏว่าในคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวได้กล่าวถึงกรณีการกระทำความผิดของโจทก์ว่าให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดพิจารณาแต่อย่างใด เพียงแต่กล่าวถึงกรณีที่ ม. สั่งการให้ ป. และ พ. พนักงานขับรถยนต์ทำความเสียหายให้จำเลย และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดก็ได้รายงานผลการสอบสวนเพียงกรณีการกระทำของ ม. ป. และ พ. เท่านั้นโดยไม่ได้กล่าวถึงการกระทำใดของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการพิจารณารายงานผลการสอบสวนและความรับผิดทางละเมิดได้ประชุมและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หมวด 1 อันเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
การที่โจทก์ลดราคาค่าบริการของจำเลยเป็นการกระทำไปภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัติงานที่เคยดำเนินการกันมาโดยจำเลยยอมรับให้โจทก์ปฏิบัติมาโดยตลอด การกระทำของโจทก์จึงมิใช่การจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และมิได้เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับกรณีพนักงานฟ้องเรียกเงินเดือนที่นายจ้างหักไว้โดยมิชอบ จึงให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนและความผิดทางละเมิด ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2545 ที่ให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวน 34,500 บาท และรักษาการผู้อำนวยการของจำเลยได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2545 มติของคณะกรรมการจำเลย (บอร์ด) ที่มีมติที่ประชุมครั้งที่ 4/2546 วาระที่ 4.2 ยืนตามมติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนและความผิดทางละเมิด ให้จำเลยคืนเงิน 7,993.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยหักเงินเดือนของโจทก์จำนวน 2,679.91 บาท นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2546 จำนวน 2,664.50 บาท นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2546 จำนวน 2,669.10 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 34,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2546 อันเป็นวันที่ฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่จำเลย โดยขอให้หักหนี้กับเงินที่จำเลยหักไว้จากเงินค่าจ้างแล้วจำนวน 2,679 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนของจำเลยที่ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 34,500 บาท เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 และคำสั่งของรักษาการผู้อำนวยการของจำเลยที่เห็นชอบตามมติดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2545 ให้จำเลยจ่ายเงิน 12,475.42 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 2,679.91 บาท นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2546 จากต้นเงิน 2,664.50 บาท นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2546 จากต้นเงิน 2,669.10 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2546 จากต้นเงิน 2,231 บาท นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 และจากต้นเงิน 2,231 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาควรพิจารณาว่าโจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 หรือไม่ เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่ จึงต้องได้ความว่าเจ้าหน้าที่นั้นได้กระทำการใดไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ โดยให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นโดยคณะกรรมการต้องให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม ความเห็นของคณะกรรมการต้องมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่แจ้งชัดและต้องมีพยานหลักฐานที่สนับสนุนประกอบด้วย ซึ่งหลักในการรับฟังนี้มีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและการควบคุมตรวจสอบคำวินิจฉัย จึงเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งจะละเลยไม่ได้ แต่จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปราฏว่า จำเลยเพียงแต่ให้โจทก์ชี้แจงเกี่ยวกับมูลกรณีที่นายสมมาตกระทำผิดวินัย ในทำนองเป็นการให้ข้อเท็จจริงแก่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้นไม่เป็นกิจจะลักษณะว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบหรือเข้าใจข้อเท็จจริงในฐานะผู้ถูกกล่าวหา และไม่ปรากฏว่ามีการให้โจทก์รู้ตัวและมีโอกาสแสดงพยานหลักฐาน เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดก็ไม่ปรากฏว่าในคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวได้กล่าวถึงกรณีการกระทำความผิดของโจทก์ว่าให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดพิจารณากรณีของโจทก์ด้วยแต่อย่างใด เพียงแต่กล่าวถึงกรณีที่นายสมมาตสั่งการให้นายประสงค์และนายไพรัตน์พนักงานขับรถยนต์ที่ทำความเสียหายให้จำเลย และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดก็ได้รายงานผลการสอบสวนเพียงกรณีการกระทำของนายประสงค์ นายไพรัตน์ และนายสมมาต เท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวถึงการกระทำใดของโจทก์ การพิจารณาให้โจทก์ชดใช้คืนค่าขาดรายได้ก็เป็นความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนและความรับผิดทางละเมิด มิใช่ความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หมวด 1 กรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ อันเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนและความรับผิดทางละเมิดและคำสั่งของรักษาการผู้อำนวยการจำเลยที่เห็นชอบตามมติดังกล่าวจึงไม่ชอบ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนของจำเลยและคำสั่งของรักษาการผู้อำนวยการของจำเลยที่เห็นชอบตามมติดังกล่าวจึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์จำเลยมีว่า โจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ลดราคาค่าบริการของจำเลยจึงเป็นการกระทำไปภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัติงานที่เคยดำเนินการกันมาโดยจำเลยก็ยอมรับให้โจทก์ปฏิบัติเช่นนี้ได้มาโดยตลอด การกระทำของโจทก์จึงมิใช่การจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อีกทั้งมิได้เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้นถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับกรณีพนักงานฟ้องเรียกเงินเดือนที่นายจ้างหักไว้โดยไม่ชอบ จึงให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายข้างต้น อุทธรณ์จำเลยประการนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share