แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องศาลให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จแก่โจทก์ถือได้ว่าเป็นการทวงถามเตือนให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวอยู่ในตัว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว และจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224วรรคแรก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานประจำ โจทก์ลาออกจากงาน โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ แต่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ขาดไปโดยไม่นำค่าครองชีพมารวมคำนวณ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ค่าครองชีพไม่ใช่เงินเดือนหรือค่าจ้างไม่อาจนำมารวมกับค่าจ้างปกติเพื่อเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จโจทก์ไม่เคยทวงถามค่าครองชีพ จำเลยจึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดอันจะต้องเสียดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จที่ขาดแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้เพียงว่า ภายหลังจากหนี้ถึงกำหนดชำระ ถ้าเจ้าหนี้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ได้ชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้วโดยไม่ได้กำหนดรูปแบบคำเตือนไว้ว่าจะต้องทำอย่างไรการฟ้องศาลให้จำเลยชำระบำเหน็จแก่โจทก์ถือได้ว่าเป็นการทวงถามเตือนให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวอยู่ในตัว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว และจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก หาใช่เริ่มรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่
พิพากษายืน.