แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3กระทำในฐานะตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตัวการนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 จะเป็นตัวแทนโดยแต่งตั้งหรือเชิด และจำเลยที่ 1 กระทำอย่างใดอันถือได้ว่าได้แต่งตั้งหรือเชิดจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นตัวแทน เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำเข้าสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม แม้บิดาของโจทก์ผู้เยาว์ยังมีชีวิตอยู่ แต่มารดาโจทก์ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองก็เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ มารดาโจทก์ผู้เดียวจึงมีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ได้ โจทก์ฝากเงินกับบริษัทจำเลยที่ 1 โดยพนักงานของจำเลยที่ 1เป็นผู้รับเงินไป แต่ไม่ออกเอกสารการกู้ยืมหรือตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 กรรมการของจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินเท่ากับเงินฝากแต่มิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1มอบให้โจทก์แม้จะมิได้เป็นการสั่งจ่ายเช็คในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1แต่การที่พนักงานของจำเลยที่ 1 ได้นำดอกเบี้ยเงินฝากมาชำระให้โจทก์ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหลงเข้าใจว่าการรับฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับฝากเงินเองโดยเชิดจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นตัวแทนในการรับฝากเงินและสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1โจทก์ได้นำเงินจำนวน 100,000 บาท ไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารมหานคร จำกัด สำนักงานใหญ่จำนวนเงิน 100,000 บาท ชำระหนี้เงินฝากให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ ครบกำหนดใช้เงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับเงินฝากคืน โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ในฐานะตัวแทนจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงิน 100,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นางวรวรรณ วุฒิประจักร์ จะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ทราบไม่รับรองจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนารับฝากเงินจากประชาชนโดยจำเลยที่ 1 ต้องออกเอกสารการกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ให้กู้ไว้เท่านั้น จำเลยที่ 1จะรับฝากเงินจากประชาชนโดยออกเช็คให้ผู้ฝากเงินไว้หาได้ไม่เพราะขัดต่อวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับฝากเงินตามฟ้องจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบหมายหรือเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นตัวแทนสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องหรือให้สัตยาบันในการที่จำเลยที่ 2และที่ 3 รับฝากเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1รับผิดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์นั้นจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์หรือได้รับประโยชน์จากเงินของโจทก์แต่ไม่เคยตกลงที่จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้แก่โจทก์หากฟังว่าโจทก์ต้องรับผิดก็ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาจำเลยที่ 2ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำเลยที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์บรรยายฟ้องได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 มิได้บรรยายฟ้องแสดงโดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนโดยการแต่งตั้งหรือเชิดหรือจำเลยที่ 1 กระทำการอย่างใดที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 แต่งตั้งหรือเชิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนนั้น เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายคำฟ้องแล้วว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับฝากเงินและลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้คืนเงินฝากแก่โจทก์ได้กระทำในฐานะตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตัวการฟ้องโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นตัวแทนโดยแต่งตั้งหรือเชิด และจำเลยที่ 1 กระทำอย่างใดถือได้ว่าได้แต่งตั้งหรือเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำเข้าสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ส่วนปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า นางวรวรรณวุฒิประจักร์ มิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ เพราะนายบรรพตบิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่นายบรรพตจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว นางวรวรรณจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้นเห็นว่าโจทก์ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 แม้นายบรรพตบิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อยู่ใต้อำนาจปกครองของนางวรวรรณมารดาไม่ นางวรวรรณเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์จึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ตาม มาตรา 1569 มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ประเด็นที่จำเลยที่ 1 โต้เถียงมาในคำแก้ฎีกาดังกล่าวฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับฝากเงินจากโจทก์ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1หรือในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 อันจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์หรือไม่ นางวรวรรณ วุฒิประจักร์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์เบิกความว่า พยานทำงานอยู่ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดฉื่อจิ้นฮั้ว เดิมบริษัทจำเลยที่ 1 มีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารชั้น 6 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฉื่อจิ้นฮั้ว ต่อมาบริษัทจำเลยที่ 1ได้ย้ายสำนักงานไปอยู่ฝั่งตรงข้ามกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฉื่อจิ้นฮั้ว ก่อนที่พยานจะมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ในนามของโจทก์ พยานโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ให้นางสาวอรวรรณ เจริญสุขพิพัฒน์ เลขาของจำเลยที่ 2 มารับเงินจำนวน 100,000 บาท ไปจากพยาน หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารมหานคร จำกัด สำนักงานใหญ่ ลงวันที่9 พฤศจิกายน 2527 สั่งจ่ายเงินจำนวน 100,000 บาท แต่มิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มอบให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 พยานเคยทักท้วงไปยังนางสาวอรวรรณเกี่ยวกับเช็คเอกสารหมาย จ.3ไม่ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 แต่ก็ได้รับคำชี้แจงจากนางสาวอรวรรณว่า เช็คเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 และที่ 3สั่งจ่ายในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้นำดอกเบี้ยรายเดือนมาชำระให้แก่โจทก์ โดยมีสมุดให้ลงชื่อรับไว้ และโจทก์มีนางสุชิน จงนิรามัยสถิต กับนายคมสัน ก้องวงศ์วณิช เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 รับเงินฝากมาจากพยานทั้งสองโดยวิธีเดียวกันกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5และ จ.7 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังรับเงินจากบุคคลอื่นโดยวิธีเดียวกันนี้อีก จำเลยที่ 1 นำสืบลอย ๆ ว่าไม่ได้รู้เห็นยินยอมกับการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1จะกู้ยืมเงิน หรือรับเงินออมจากประชาชนได้จะต้องปฏิบัติอยู่ในกำหนดกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 27 และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชน และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ ลงวันที่14 กรกฎาคม 2524 ข้อ 2(2), ข้อ 3(1) เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์แล้วไม่ออกเอกสารการกู้ยืมหรือตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์และไม่ใช่เพื่อการพัฒนาหรือการเคหะแม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.3ให้แก่โจทก์ แต่ก็ไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับไว้ จึงมิได้เป็นการสั่งจ่ายเช็คในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 แต่ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1เป็นผู้ดำเนินการรับฝากเงินจากโจทก์และจากบุคคลอื่นโดยทั่วไปการชำระดอกเบี้ยรายเดือนเป็นผลประโยชน์ตอบแทนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่า การรับเงินฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ที่ทำได้ตามกฎหมายและอยู่ภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อรับฝากเงินเองโดยเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนในการรับฝากเงินและสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับเอาผลการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยชำระเงินที่รับฝากคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ประกอบมาตรา 224 วรรคแรก ที่โจทก์ฎีกาจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีนั้นเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น