แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนลักษณะของการกระทำ แตกต่างและต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ ทั้งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ก็ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า จำหน่าย ให้มีความหมายรวมถึงการมีไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่ายด้วยแสดงว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯมุ่งประสงค์จะลงโทษการมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษทั้งสองกรณีจึงเป็นความผิดสองกรรม โจทก์มีคำขอให้ริบของกลางคือธนบัตร จำนวน 500 บาทที่จำเลยทั้งสองทอนให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการล่อซื้อแต่ศาลล่างมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบหรือไม่ริบธนบัตรดังกล่าวคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 และธนบัตรจำนวน 500 บาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ จึงต้องริบเสียตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 การริบทรัพย์สินนี้แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจสั่งริบของกลางได้ มิใช่เป็นการ เพิ่มเติมโทษจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีน 196 เม็ดน้ำหนัก 18.15 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 100 เม็ดให้แก่พลตำรวจไพรัตน์ เพชรพูล ในราคา 6,500 บาทโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 7 ฉบับ รวม 7,000 บาท ซึ่งเป็นธนบัตรที่จำเลยทั้งสองได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนข้างต้นและธนบัตรอีก 27,500 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ผู้อื่นก่อนคดีนี้ และตรวจพบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการจำหน่าย 96 เม็ด และเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสองได้จำหน่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจอีก 100 เม็ดและธนบัตรอีก 500 บาท ที่จำเลยทั้งสองทอนให้เจ้าพนักงานตำรวจจึงยึดไว้เป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 97, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 32, 33 ริบของกลางยกเว้นเงิน 7,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อคืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี กระทงหนึ่ง และฐานจำหน่ายจำคุก 6 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุก 14 ปี จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี 4 เดือนส่วนจำเลยที่ 2 ขณะกระทำผิดอายุกว่าเจ็ดปี แต่ยังไม่เกินสิบสี่ปี จึงไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ส่งไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรีมีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(5) ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางคืนเงิน 7,000 บาท ที่ใช้ในการล่อซื้อแก่เจ้าของ ส่วนเงินสด27,500 บาท คืนแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน สำหรับจำเลยที่ 1และยกอุทธรณ์จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1ได้กระทำความผิดตามฟ้องชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยที่ 1มีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมหรือกรรมเดียวเห็นว่า การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ลักษณะของการกระทำแตกต่างกันเป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ ทั้งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 4 ก็ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่าจำหน่ายให้มีความหมายรวมถึงการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยดังเช่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4 แสดงว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มุ่งประสงค์จะลงโทษการมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษทั้งสองกรณี ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1ทั้งสองกรรมชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์มีคำขอให้ริบของกลางคือธนบัตรจำนวน 500 บาท ที่จำเลยทั้งสองทอนให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการล่อซื้อด้วย แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบหรือไม่ริบธนบัตรดังกล่าว คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9)แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นว่าธนบัตรจำนวน 500 บาทที่จำเลยทั้งสองทอนให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการล่อซื้อเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ จึงต้องริบเสียด้วยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 การริบทรัพย์สินนี้แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่น ซึ่งบางกรณีแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำผิดหรือกระทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงมิใช่การเพิ่มโทษจำเลย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจสั่งริบของกลางได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบธนบัตรจำนวน 500 บาทที่จำเลยทั้งสองทอนให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการล่อซื้อด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3