แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ผู้ให้เช่าเป็นจำเลยเรียกเงินค่ามัดจำการเช่าอาคารจากโจทก์ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยได้ซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญาแล้วไม่ได้ค้างชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาพิพากษาให้โจทก์คืนเงินมัดจำให้แก่จำเลยโจทก์อุทธรณ์คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าที่ค้างค่าขาดประโยชน์ที่ไม่สามารถใช้อาคารที่ให้เช่ารวมทั้งค่าซ่อมอาคารที่จำเลยซ่อมไม่เสร็จโดยยอมให้หักกลบลบหนี้กับเงินมัดจำที่จำเลยวางไว้แก่โจทก์ดังนี้คดีนี้กับคดีก่อนโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกันประเด็นแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยคดีนี้กับคดีก่อนก็เป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกันว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าจำเลยคดีนี้ไม่ได้ผิดสัญญาการที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา144
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2532 จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารเลขที่ 18/73 ถึง 75 จากโจทก์ทั้งสามมีกำหนด18 เดือน เมื่อครบกำหนดที่เช่าได้มีการต่อสัญญาออกไปอีกมีเงื่อนไขการเช่าตามสัญญาเดิมต่อมาจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญา โจทก์ทั้งสามจึงแจ้งให้จำเลยซ่อมอาคารที่เช่าให้อยู่ในสภาพดีเหมือนเดิม แต่จำเลยซ่อมให้เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้จำเลยยังค้างชำระค่าน้ำประปาเป็นเงิน 2,457.80 บาท ค่าไฟฟ้าเนื่องจากจำเลยใช้ไฟฟ้าประเภท 3เมื่อเลิกใช้แล้วมิได้แจ้งแก้ไข การไฟฟ้านครหลวงจึงเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเป็นเงิน 61,860 บาท โจทก์ทั้งสามแจ้งรายการที่จะต้องซ่อมอาคารเพิ่มเติม จำเลยตกลงจะซ่อมอาคารและส่งมอบให้โจทก์ภายใน1 เดือน ถ้าไม่เสร็จยอมให้ค่าเสียหายเดือนละ 60,000 บาท จำเลยไม่ปฏิบัติตามโจทก์ขาดประโยชน์ไม่สามารถใช้อาคารคิดเป็นค่าเช่าเดือนละ 60,000 บาท เป็นเวลา 7 เดือน เป็นเงิน 520,000 บาทรายการที่ซ่อมอาคารไม่เสร็จเป็นเงิน 51,000 บาท รวมเป็นเงิน535,317.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันตกลงว่าจะซ่อมเสร็จคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 52,639.71 บาท รวมเป็นเงิน587,957.40 บาท เมื่อหักเงินที่จำเลยวางมัดจำไว้ 120,000 บาทออก คงเหลือ 467,957.40 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน467,957.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงจำเลยได้ชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าครบถ้วนแล้ว คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายฟ้องว่า ค่าไฟฟ้าจำนวนตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อใดและเกิดจากการใช้ไฟฟ้าของจำเลยหรือไม่อย่างไร จำเลยไม่เคยตกลงจะซ่อมและส่งมอบอาคารที่เช่าภายใน 1 เดือน ไม่เคยตกลงเรื่องค่าเสียหายในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบอาคารได้ตามกำหนด จำเลยซ่อมอาคารตามสัญญาเช่าเป็นที่เรียบร้อยโจทก์จึงไม่ขาดประโยชน์รายการที่ต้องซ่อมตามฟ้องไม่มีในข้อสัญญาเป็นรายการที่โจทก์ทำขึ้นเองและจำนวนเงินค่าซ่อมดังกล่าวไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นผู้เช่าอาคารของโจทก์ทั้งสามได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามผู้ให้เช่าเป็นจำเลยเรียกเงินค่ามัดจำการเช่าอาคารจากโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามให้การต่อสู้คดีว่า เหตุที่โจทก์ทั้งสามไม่คืนเงินค่ามัดจำการเช่าอาคารให้แก่จำเลยเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่ได้ซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าให้อยู่ในสภาพเดิมและค้างชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์หรือจำเลยคดีนี้ได้ซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญาแล้ว ไม่ได้ค้างชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามคืนเงินมัดจำให้แก่จำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 501/2536 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เห็นว่า คดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่501/2536 ของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกันประเด็นแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยคดีนี้กับประเด็นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 501/2536 ของศาลชั้นต้น ดังกล่าวเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่า จำเลยคดีนี้ไม่ได้ผิดสัญญา การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
พิพากษายืน