คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญาระหว่างคู่กรณีเพื่อระงับหนี้เดิมแล้วก่อให้เกิดหนี้ใหม่ผูกพันกันแทน หนี้เดิมเป็นอันระงับไป แม้โจทก์จะยอมรับเช็คของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนลงลายมือชื่อเป็นประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ก็ตามก็หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ไม่ เพราะไม่มีการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้กันใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงจำเลยที่ 2 เข้าไปเป็นผู้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้เดิมเท่านั้น หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายไม่ได้ ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 สิงหาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 สิงหาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 11,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นลูกวงแชร์ มีนายไพรัช เป็นนายวงแชร์และเป็นผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ โดยมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันมากกว่า 300,000 บาท และมีการประมูลแชร์กันตลอดมา จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้ในงวดที่ 5 และได้รับเงินไปแล้ว ส่วนโจทก์ได้เงินทุนกองกลางในงวดสุดท้าย โดยไม่ต้องประมูล และจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวรจักรไม่ลงวันที่สั่งจ่าย จำนวนเงิน 300,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์แทนจำเลยที่ 1 โจทก์นำเช็คดังกล่าวมาลงวันที่และนำไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่ระงับนั้น เห็นว่า การแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญาระหว่างคู่กรณีเพื่อระงับหนี้เดิมแล้วก่อให้เกิดหนี้ใหม่ขึ้นผูกพันกันแทน หนี้เดิมเป็นอันระงับไป แม้โจทก์จะยอมรับเช็คของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ไม่เพราะไม่มีการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้กันใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงจำเลยที่ 2 เข้าไปเป็นผู้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้เดิมเท่านั้น หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายไม่ได้ ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท

Share