คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ส่วนจำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โจทก์ตกลงขออนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของตนเอง คือ เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 136991 กับ ค 136990 โดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดำเนินการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ ขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ทะเบียนเลขที่ ค 136991 และ ค 136990 ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ตามที่บรรยายมานั้นแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 136991 กับ ค 136990 ออกจากทะเบียนเป็นสำคัญ หาได้มุ่งบังคับแก่จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดไม่ แม้หลักฐานทางทะเบียนจะปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 136991 กับ ค 136990 ได้โอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ก่อนที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ แต่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ย่อมจะมีช่องทางที่จะให้การต่อสู้คดีป้องกันสิทธิของตนได้ ทั้งคำให้การของจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2549 ก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ให้การร่วมกันกับจำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีในส่วนของเครื่องหมายการค้านี้แล้ว หาใช่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีโอกาสต่อสู้คดีตามที่กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ไม่ นอกจากนี้เมื่อคดีรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ย่อมจะไม่อาจโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ตามทะเบียนเลขที่ ค 136991 “ARB” (เอ อาร์ บี) กับทะเบียนเลขที่ ค 136990 “Old Man Emu” (โอลด์ แมน อีมู) พร้อมรูปนกอีมูประดิษฐ์กำลังวิ่งโดยมีรูปดวงอาทิตย์อยู่บนฉากหลัง ให้จำเลยที่ 1 เลิกใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “เอ อาร์ บี” (ARB) เป็นส่วนหนึ่งของชื่อจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลดวงตราประทับ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และห้ามจำเลยทั้งสองใช้หรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้า “ARB” (เอ อาร์ บี) ของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARB” ตามทะเบียนเลขที่ ค 136991 และเครื่องหมายการค้าคำว่า “Old Man Emu” และรูปนกอีมูประดิษฐ์กำลังวิ่งโดยมีรูปดวงอาทิตย์อยู่บนฉากหลัง ตามทะเบียนเลขที่ ค 136990 ห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าคำว่า “ARB” และหรือ “เออาร์บี” ของโจทก์ และห้ามจำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “ARB” และหรือ “เออาร์บี” เป็นชื่อของนิติบุคคลหรือเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลจำเลยที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ARB” (เอ อาร์ บี) กับ “Old Man Emu” (โอลด์ แมน อีมู) พร้อมรูปนกอีมูประดิษฐ์กำลังวิ่งโดยมีรูปดวงอาทิตย์อยู่บนฉากหลังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.23 และ จ.24 จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าว่า บริษัท เอ อาร์ บี แอคเซสโซรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20 จำเลยที่ 1 ขายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “ARB” ในประเทศไทย จำเลยที่ 2 เคยเดินทางไปประเทศออสเตรเลีย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าจึงเกินคำขอ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ส่วนจำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โจทก์ตกลงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของตนเอง คือ เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 136991 กับ ค 136990 โดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดำเนินการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ทะเบียนเลขที่ ค 136991 และ ค 136990 ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ตามที่บรรยายมานั้นแสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์มีความประสงค์ที่จะขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 136991 กับ ค. 136990 ออกจากทะเบียนเป็นสำคัญ หาได้มุ่งบังคับต่อตัวจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 แต่อย่างใดไม่ แม้หลักฐานทางทะเบียนเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 จะปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 136991 กับ ค 136990 ได้โอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2548 ก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ แต่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ย่อมจะมีช่องทางที่จะให้การต่อสู้คดีป้องกันสิทธิของตนได้ ทั้งตามคำให้การของจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2549 ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ให้การร่วมกับจำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีในส่วนของเครื่องหมายการค้านี้แล้ว หาใช่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีโอกาสต่อสู้คดีตามที่กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ไม่ นอกจากนี้เมื่อคดีรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งรับโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ย่อมจะไม่อาจโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้เช่นกัน ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อมามีว่า การที่จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “เออาร์บี” (ARB) ในชื่อนั้น เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้ชื่อตามกฎหมาย ชื่อของจำเลยที่ 1 ต่างกับชื่อของโจทก์ และการพิจารณาต้องพิจารณาชื่อทั้งหมด จะพิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เห็นว่า โจทก์มีนายอวยชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนายโรเจอร์ กรรมการผู้จัดการโจทก์ เป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.1, จ.5, จ.19 ถึง จ.22, จ.29 และ จ.30 ในทำนองว่า โจทก์ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 เคยไปเยี่ยมชมโจทก์ที่ประเทศออสเตรเลีย ต่อมามีการตกลงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศไทยรวมทั้งใช้คำว่า “ARB” ในชื่อของจำเลยที่ 1 ได้ โดยมีการตกลงด้วยวาจากันเมื่อปลายปี 2542 ภายหลังโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและห้ามจำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “ARB” ในชื่อของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2543 ส่วนฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า ชื่อของจำเลยที่ 1 กับชื่อของโจทก์แตกต่างกัน คำต่อจาก “ARB” ก็ต่างกันมากไม่มีโอกาสที่บุคคลจะเข้าใจผิดว่าเป็นบริษัทเดียวกัน ทั้งตั้งอยู่คนละประเทศ เห็นว่า นายอวยชัย และนายโรเจอร์ พยานโจทก์เบิกความในทำนองว่า ก่อนการทำเอกสารหมาย จ.22 มีการตกลงด้วยวาจากันมาก่อนแล้วเมื่อปลายปี 2542 จึงเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจัดตั้งขึ้น ฝ่ายจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงดังกล่าว รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นๆ ของโจทก์ โดยเฉพาะเอกสารหมาย จ.22 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้น พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “ARB” ตลอดระยะเวลาที่เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ในประเทศไทย เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิที่จะใช้คำว่า “ARB” ในชื่อของตนอีกต่อไป และไม่ใช่กรณีที่ต้องพิจารณาว่าเป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดหรือไม่ด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share