แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.อ. มาตรา 92 นั้น ผู้ที่จะถูกเพิ่มโทษได้จะต้องเป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและได้กระทำความผิดขึ้นอีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษคำคุกในคดีก่อน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนโดยให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี กรณีเช่นนี้จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษได้ แม้ว่าจำเลยจะมาทำความผิดคดีนี้ขึ้นอีกภายใน 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดรอการลงโทษก็ตาม ก็เพิ่มโทษมิได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ก็ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 92, 297 และเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 4 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 5 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามเป็นจำคุก 2 ปี 8 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 นั้น ผู้ที่จะถูกเพิ่มโทษได้จะต้องเป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและได้กระทำความผิดขึ้นอีกภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษ ซึ่งวันพ้นโทษก็คือพ้นโทษจำคุกในคดีก่อนนั่นเอง ดังนั้น เมื่อปรากฏหลักฐานตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แนบท้ายฎีกาของจำเลยซึ่งเจ้าพนักงานศาลยุติธรรม 6 รับรองความถูกต้องและโจทก์มิได้กล่าวแก้เป็นอย่างอื่นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 510/2545 ให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี กรณีเช่นนี้จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษได้ แม้ว่าจำเลยจะมาทำความผิดคดีนี้ขึ้นอีกภายในห้าปี นับแต่วันครบกำหนดรอการลงโทษก็ตามก็เพิ่มโทษมิได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 มานั้น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฏหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี แต่ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์