คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3647/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 3 มิใช่ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกการตกลงค่าเสียหายว่าจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ดังนี้ ถือว่าจำเลยที่ 3 สมัครใจเข้าทำสัญญากับโจทก์รับที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์จากการถูกผู้อื่นกระทำละเมิด เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับผิดตามสัญญา ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 3 นำสืบในสำนวนความมาวินิจฉัยโดยตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตของคู่กรณีและโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 368 จึงมีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์โดยร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันกระทำโดยประมาทจุดธูปทิ้งไว้ในบ้านของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้บ้านของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้วลุกลามไหม้บ้านของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 722,950 บาท หลังเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 3 ในฐานะเจ้าของบ้านต้นเพลิงและในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้ทำบันทึกข้อตกลงโดยจำเลยที่ 3 ยินยอมซ่อมแซมบ้านของโจทก์ ส่วนความเสียหายของเครื่องตกแต่งบ้านและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในบ้านของโจทก์ จำเลยที่ 3 จะจัดให้มีการประเมินราคาและตกลงค่าเสียหายกันในภายหลัง แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ซ่อมแซมบ้านของโจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 ทำบันทึกดังกล่าว โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 775,685.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 722,950 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 400,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 442,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องได้เกิดเพลิงไหม้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่จุดธูปทิ้งไว้ในห้องพระชั้น 2 เพลิงลุกลามไปไหม้หลังคาและบริเวณชั้น 2 ของบ้านโจทก์ ต่อมาวันรุ่งขึ้นโจทก์และจำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกการตกลงค่าเสียหายและจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเอกสารหมาย จ.7 ต่อหน้าร้อยตำรวจโทชูตระกูล ยศมาดี รองสารวัตรสอบสวนทำหน้าที่ร้อยเวรที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ โดยในขณะนั้นยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำละเมิดหรือก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ต่อมาจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าเสียหายตามข้อตกลงให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย… คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.7 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 มิใช่ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 3 สมัครใจเข้าทำสัญญากับโจทก์รับที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์จากการถูกผู้อื่นกระทำละเมิด ก็เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับผิดตามสัญญานั้น ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตีความการแสดงเจตนาตามบันทึกเอกสารหมาย จ.7 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีมีประเด็นข้ออ้างข้อเถียงเกี่ยวกับข้อความในบันทึกเอกสารหมาย จ.7 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.7 ด้วยหรือไม่ ในเมื่อบันทึกตามเอกสารหมาย จ.7 ถือว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 2 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 3 นำสืบในสำนวนความมาวินิจฉัยโดยตีความสัญญาไปตามความประสงค์ในทางสุจริตของคู่กรณีและโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 นั้น ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share