คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9500/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวอ้างว่า คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการดำเนินคดีของโจทก์ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 26, 27, 28, 233 และ 249 มิใช่เป็นคำโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 6 บัญญัติไว้ จึงไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตาม มาตรา 264 วรรคหนึ่งไว้พิจารณา จะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 264 วรรคสอง แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่า คำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีนี้ที่จะวินิจฉัยได้ตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มิใช่ว่าโจทก์มีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสมอไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 5
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้อง ให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องศาลชั้นต้นออกหมายเรียกตามคำร้องของโจทก์ถึงบริษัทอโศก พร็อบเพอร์ตี้ จำกัด ให้ส่งเอกสารตามบัญชีพยานโจทก์ บริษัทดังกล่าวมีหนังสือแจ้งศาลชั้นต้นว่าไม่สามารถส่งเอกสารตามหมายเรียกบางฉบับได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวมาไต่สวน
ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งว่าการส่งหมายนัดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ชอบ ให้เลื่อนไปนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ให้โจทก์จัดทำสำเนาคำฟ้องพร้อมหลักฐานยืนยันภูมิลำเนา ส่วนที่โจทก์ขอให้เรียกกรรมการผู้จัดการบริษัทอโศก พร็อบเพอร์ตี้ จำกัด มาไต่สวนนั้น เห็นว่า ไม่มีเหตุอนุญาต ให้ยกคำร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องวันที่ 14 ธันวาคม 2541 คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2541 ให้รับรวมสำนวนไว้ ให้โจทก์งดส่งหลักฐานยืนยันภูมิลำเนาและสำเนาคำฟ้อง คงให้โจทก์ส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 14 ธันวาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 ว่า อุทธรณ์โจทก์เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์ (เพิ่มเติม) คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 14 ธันวาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวันที่ 17 ธันวาคม 2541 ว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 ที่ไม่รับอุทธรณ์โจทก์และยื่นคำร้องลงวันที่ 5 มกราคม 2542 ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ขอให้ศาลอุทธรณ์ส่งปัญหาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 8, 14, 17 ธันวาคม 2541 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 หรือไม่
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งที่ 177/2542 ให้ยกคำร้อง
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ส่งคำโต้แย้งของโจทก์ตามคำร้อง ฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2542 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่าที่โจทก์กล่าวอ้างว่า คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2541 และลงวันที่ 17 ธันวาคม 2541 ดังกล่าวแล้วข้างต้นซึ่งศาลชั้นต้นอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. สั่งนั้น เป็นคำสั่งที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการดำเนินคดีของโจทก์ จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 26, 27, 28, 233 และ 249 คำโต้แย้งของโจทก์ดังกล่าวมิใช่เป็นคำโต้แย้งว่า ตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 6 บัญญัติไว้ กรณีตามคำร้องของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ไว้พิจารณา จะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 264 วรรคสอง ดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกา แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่า คำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ก็เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีนี้จะวินิจฉัยได้ตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มิใช่ว่าโจทก์มีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเสมอไป
พิพากษายืน

Share