แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อความในหนังสือสละมรดกที่ ถ. และโจทก์ยอมสละสิทธิในที่ดินพิพาทโดยมีเงื่อนไขว่าต้องสร้างอนุสรณ์สำหรับฝังอัฐิ ฮ. ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่และเจาะจงให้ที่ดินที่เหลือตกแก่ ส.และจำเลยที่1โดยเฉพาะนั้นไม่ใช่การสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1612 และ 1613 เพราะการสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเจตนาให้มรดกนั้นตกได้แก่ทายาทคนใดคนหนึ่งไม่ได้ แต่หลังจาก ฮ. ตายแล้วทายาทของ ฮ. ได้เจรจาตกลงกันโดยทำบันทึกข้อตกลงว่าที่ดินของ ฮ. 2 แปลง ถ. มารดาโจทก์ตกลงเอาไว้เป็นของตนก็เพื่อเป็นหลักฐานว่า ถ. และโจทก์สละสิทธิในที่ดินพิพาท จึงมีลักษณะเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และ 1750 โจทก์จึงฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ตนไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 บุตรนายทังไล้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายฮะฮี้กับนายทังไล้ตามคำสั่งศาล โจทก์เป็นทายาทของนายฮะฮี้มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวกึ่งหนึ่ง แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกข้างต้นไปเป็นของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินเลขที่ 6458 ตำบลบางช้าง (คลองแบ่ง) อำเภอพนัสนิคม (พนัศ) จังหวัดชลบุรีเป็นจำนวนเนื้อที่ 12 ไร่ 32 ตารางวา และให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทเนื่องจากหลังจากนายฮะฮี้ตาย ได้มีการตกลงแบ่งทรัพย์มรดกแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความในเบื้องต้นว่า โจทก์และนายทังไล้ แซ่เดียว ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยทั้งสอง เป็นบุตรของนายฮะฮี้ แซ่เตียวแต่ต่างมารดากัน นายฮะฮี้มีที่ดิน 3 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 6036, 6277 และที่ดินพิพาทหลังจากนายฮะฮี้ตายโจทก์และมารดาโจทก์ทำบันทึกสละสิทธิที่ดินพิพาทโดยมีเงื่อนไขให้สร้างอนุสรณ์สำหรับฝังอัฐินายฮะฮี้ในที่ดินแปลงนี้จำนวน 2 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก22 ไร่เศษ ให้นายสมพล แซ่เตียว และจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมรดกร่วมกันตามเอกสารหมาย ล.4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.4เป็นหนังสือสละมรดกหรือเป็นหนังสือแบ่งมรดก เห็นว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.4มีข้อความว่า บันทึกฉบับนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่านางถั่วงอกและนางเพิ่มพูน (โจทก์)ยินยอมสละสิทธิมรดกของนายฮะฮี้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 6458 (ที่ดินพิพาท)โดยมีเงื่อนไขว่าให้สร้างอนุสรณ์สำหรับฝังอัฐินายฮะฮี้ในที่ดินแปลงเนื้อที่ 2 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก22 ไร่เศษ จะให้นายสมพลและเด็กชายธรรมรักษ์(จำเลยที่ 1) เป็นผู้รับมรดกร่วมกันโดยให้จัดการแบ่งแยกและขอรับมรดกต่อเมื่อไดก่อสร้างอนุสรณ์เสร็จแล้ว จากข้อความในบันทึกฉบับนี้แสดงว่านางถั่วงอกและโจทก์ยอมสละสิทธิในที่ดินพิพาทโดยมีเงื่อนไขว่าต้องสร้างอนุสรณ์สำหรับฝังอัฐินายฮะฮี้ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่และเจาะจงให้ที่ดินที่เหลือตกแก่นายสมพลและจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.4 จึงไม่ใช่การสละมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1612 และ 1613เพราะการสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเจตนาให้มรดกนั้นตกได้แก่ทายาทคนใดคนหนึ่งไม่ได้ นอกจากนี้นางชูกิมหรือชูอิม แซ่เตียว ได้เบิกความถึงที่มาของข้อตกลงดังกล่าวว่า หลังจากนายฮะฮี้ตายแล้ว นางชูกิม นายทังไล้ นางถั่วงอก นางเม่งเช็ง และโจทก์ ซึ่งเป็นทายาทนายฮะฮี้ได้เจรจาตกลงกันเกี่ยวกับมรดกของนายฮะฮี้ ในที่สุดตกลงกันได้ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.4ส่วนที่ดินของนายฮะฮี้อีก 2 แปลง นางถั่วงอกมารดาโจทก์ตกลงเอาไว้เป็นของตน การที่ทายาทของนายฮะฮี้ได้เจรจาตกลงกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาทโดยทำบันทึกตามเอกสารหมาย ล.4เพื่อเป็นหลักฐานว่านางถั่วงอกและโจทก์สละสิทธิในที่ดินพิพาท เช่นนี้มีลักษณะเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 และ 1750 โจทก์จึงฟ้องร้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไม่ได้ที่โจทก์ฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.4 เป็นหนังสือสละมรดกนั้นฟังไม่ขึ้นและที่อ้างว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงยกเลิกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.4 แล้ว โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้เช่นเดียวกันและไม่ต้องวินิจฉัยว่าฟ้องขาดอายุความหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน