คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3497-3501/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมิได้ถูกฟ้องด้วยเป็นการไม่ชอบหาได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยไม่การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วยมิได้กระทบกระเทือนสิทธิหน้าที่จำเลยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบที่ศาลฎีกาจะรับไว้พิจารณา ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีจำเลยฎีกาว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้วไม่จำเป็นต้องสืบพยานต่อไปเมื่อปรากฏว่าหลังจากมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จสิ้นและได้พิพากษาคดีใหม่แล้วจึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป.

ย่อยาว

คดี 5 สำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีอื่นอีก 6 สำนวนรวมเป็น 11 สำนวน โดยเรียกโจทก์แต่ละคดีเป็นโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 11 ตามลำดับจำเลยทั้งเก้ามีรายชื่อตรงกันทุกสำนวน คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียง 5 สำนวน คือสำนวนโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 8 โจทก์ที่ 9 และโจทก์ที่ 10 โจทก์ทั้ง 5 สำนวนนี้ต่างยื่นฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งห้าสำนวนอาศัยอยู่ในอาคารเลขที่ 247/54, 247/33, 247/37, 247/42 และ 247/49 ตามลำดับตั้งอยู่ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร จำเลยทั้งเก้าเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 เมื่อเดือนมีนาคม 2523 ถึงเดือนพฤษภาคม 2524 เจ้าพนักงานท้องถิ่นเขตยานนาวา ได้มีหนังสือถึงโจทก์แต่ละรายให้ระงับการก่อสร้างต่อเติมอาคารเลขที่ดังกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย และต่อมาก็ได้มีหนังสือถึงโจทก์แต่ละรายให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมออกไป โจทก์แต่ละรายต่างยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยทั้งเก้า จำเลยทั้งเก้าวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ซึ่งเป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์ที่ 2 เป็นเพียงผู้อาศัยอยู่ในอาคารเลขที่ 247/54 อาคารส่วนที่ต่อเติมทุกสำนวนต่างมีความแข็งแรง ปลอดภัยใช้ป้องกันอัคคีภัยและโจรภัยไม่รุกล้ำที่สาธารณะ ไม่ขัดต่อรูปแบบ ไม่เสียรูปทรงและไม่เป็นอันตรายต่ออาคารอื่น จำเลยทั้งเก้าไม่ได้พิจารณาเนื้อหาในอุทธรณ์เพียงแต่หยิบยกข้อที่โจทก์แต่ละรายเคยถูกฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับการต่อเติมอาคารเหล่านี้ มาเป็นข้ออ้างในการวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าในทุกสำนวน โดยโจทก์ไม่ต้องรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติม จำเลยทั้งเก้าในทุกสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 2 แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของอาคารที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้รื้อถอน แต่ก็เป็นผู้ครอบครองอาคารดังกล่าว โจทก์ทุกรายต่างดัดแปลงต่อเติมอาคารอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจสั่งให้รื้อถอน โจทก์ต่างถูกฟ้องคดีอาญาฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลได้ลงโทษไปแล้ว ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ไปได้ 2 ปาก คู่ความแถลงรับกันว่าโจทก์ที่ 1มีชื่อเป็นเจ้าของอาคารหลังที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้รื้อถอน ส่วนโจทก์ที่ 2ที่ 4 และที่ 7 มิใช่เจ้าของอาคารที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้รื้อถอน โจทก์ทุกสำนวนเว้นแต่โจทก์ที่ 7 เคยถูกศาลพิพากษาปรับในความผิดฐานต่อเติมอาคารแต่ละหลังตามฟ้องโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยแถลงสละข้อต่อสู้เรื่องอายุความทุกคดี ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีทุกสำนวนพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทุกสำนวน โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 รวม 8 สำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับสำนวนโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 5 โจทก์ที่ 6 โจทก์ที่ 8 โจทก์ที่ 9 และโจทก์ที่ 10ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี พิพากษากลับในส่วนที่เกี่ยวกับสำนวนโจทก์ที่ 2 ให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าซึ่งเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 จำเลยทั้งเก้าฎีกาสำหรับสำนวนโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 8 โจทก์ที่ 9และโจทก์ที่ 10 ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยทั้งเก้าฎีกาในสำนวนโจทก์ที่ 2 ว่า เมื่อโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร จึงไม่มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งผิดตัว ไม่มีผลบังคับโจทก์ที่ 2 จึงไม่จำต้องมาฟ้องเพิกถอนคำสั่งอีก และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วย โดยโจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้ออกคำสั่งเป็ฯการไม่ชอบด้วยกฎหมายเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว จำเลยหาได้ฎีกาโต้แย้งในข้อนี้ไม่การที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาด้วยนั้น มิได้กระทบกระเทือนสิทธิหน้าที่ของจำเลยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอีก ฎีกาของจำเลยไม่ชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณา ส่วนที่จำเลยฎีกาในสำนวนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ โดยจำเลยอ้างว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องสืบพยานต่อไปอีก พิเคราะห์แล้วปรากฏว่าหลังจากที่มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จสิ้นและได้พิพากษาคดีใหม่แล้ว คดีจึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไปอีก พิพากษายกฎีกาของจำเลยสำหรับสำนวนคดีโจทก์ที่ 2 และให้จำหน่ายคดีสำหรับสำนวนอื่นออกจากสารบบความ

Share