คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2605/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16บัญญัติให้ถือว่าการกระทำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 และ 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ก็ตาม แต่การที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 27 ต้องได้ความว่าจำเลยมีเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 612-613/2511)
การที่จำเลยขอชำระอากรขาเข้าสำหรับสินค้าหรือของรายพิพาท โดยระบุว่าอากรปกติในพิกัดดังกล่าวจะต้องเสียอัตราร้อยละ 15 แต่ได้รับลดหย่อนให้เสียในอัตราร้อยละ 10 ตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.4/2517 แม้ประกาศดังกล่าวนี้จะถูกยกเลิกโดยประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 6/2519 ก็ตาม ข้อความที่ระบุถึงประกาศกระทรวงการคลังที่ถูกยกเลิกดังกล่าวเป็นเพียงข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง มิใช่เป็นข้อความเท็จ แต่กรณีจะเป็นความไม่สมบูรณ์หรือชักพาให้หลงผิดหรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้องของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจสำแดงเท็จซึ่งใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าสำหรับสินค้าหรือของรายพิพาทรวม ๑๑ รายการ โดยขอชำระอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ ๘๔.๐๖ อัตราอากรร้อยละ ๑๐ อันเป็นอัตราลดตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.๔/๒๕๑๗ ที่ถูกยกเลิกไปแล้วโดยจำเลยจะต้องเสียอากรตามราคาอัตราร้อยละ ๑๕ ตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.๖/๒๕๑๙ ทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษีอากรและฉ้อโกงค่าภาษีอากรของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุให้อากรขาเข้าขาดไปเป็นเงิน ๖๐,๒๙๗.๕๑ บาท รวมราคาของและอากรเป็นเงิน ๑,๒๒๒,๒๕๖.๖๑ บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๙๙ ฯลฯ ลงโทษตามมาตรา ๒๗ อันเป็นบทหนักปรับสี่เท่าราคาของรวมอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน ๕,๓๔๕,๐๑๑.๘๔ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖ บัญญัติให้ถือว่า การกระทำที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ และ ๙๙แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ก็ตาม แต่การที่จะเป็นความผิดตามมาตรา ๒๗ แห่งบทบัญญัติดังกล่าวต้องได้ความว่าจำเลยมีเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลอยู่ด้วยดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นแบบอย่างไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๒-๖๑๓/๒๕๑๑ พนักงานอัยการ กรมอัยการโจทก์บริษัทเจริญวัฒนา จำกัด กับพวก จำเลย”
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าตามพฤติการณ์เท่าที่กล่าวมานี้คดียังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ส่วนการที่จำเลยขอชำระอากรขาเข้าสำหรับสินค้าหรือของรายพิพาทในพิกัดประเภทที่ ๘๔.๐๖ โดยระบุว่าอากรปกติในพิกัดดังกล่าวจะต้องเสียตามราคาอัตราร้อยละ ๑๕ แต่ได้รับลดหย่อนให้เสียในอัตราร้อยละ ๑๐ ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.๔/๒๕๑๗ แม้ประกาศกระทรวงการคลังที่ว่านี้ได้ถูกยกเลิกโดยประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.๖/๒๕๑๙ อันเป็นผลทำให้จำเลยจะต้องเสียอากรปกติตามราคาอัตราร้อยละ ๑๕ ก็ตาม ข้อความที่ระบุถึงประกาศกระทรวงการคลังฉบับที่ถูกยกเลิกดังกล่าวเป็นเพียงข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง มิใช่เป็นข้อความเท็จ แต่กรณีจะเป็นความไม่สมบูรณ์หรือชักพาให้หลงผิดหรือไม่ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้องของโจทก์ จำเลยจึงไม่มีความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share