คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3431-3433/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองกับพวกพากันไปที่บ้านของ ว. โดยอ้างว่าเป็นตำรวจกองปราบปราม พกปืนบ้าง ถือกิ่งพืชกระท่อมบ้าง และกล่าวหา ว. ว่ามีพืชกระท่อมผิดกฎหมายจะจับกุมและทำบันทึกการจับกุม แล้วพูดว่า หากไม่ต้องการถูกจับกุมให้เสียเงิน ว.ไม่มีพืชกระท่อมแต่มีความกลัวต่อการข่มขู่ของจำเลยจึงยอมจ่ายเงินให้จำเลยไปแล้วจำเลยที่ 1 ก็พกปืนโดยมีจำเลยที่ 2 ถือพืชใบกระท่อมไปที่บ้านของ ท. และบ้านของ ส. ข่มขู่เรียกเอาเงินจาก ท. และ ส. โดยวิธีการทำนองเดียวกัน แล้วเรียกให้ ท. และ ส. ไปหาเงินมาส่งมอบให้จำเลยที่บ้านของ ว. เมื่อได้เงินแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกก็กลับไป การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทั้งสามยอมให้เงินที่จำเลยกระทำไป แม้จะใช้วิธีการอย่างเดียวกันแต่จำเลยได้กระทำต่อผู้เสียหายต่างรายกัน ต่างสถานที่ และต่างเวลากัน แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนาแยกการกระทำของตนเป็นหลายกรรมต่างกัน ต้องถือว่าจำเลยกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้โจทก์ฟ้องมีใจความอย่างเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิดหลายบทหลายกระทง โดยจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบร่วมกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งมิได้เป็นเจ้าพนักงานแต่แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ร่วมกันข่มขืนใจนายวิชัยให้ยอมให้เงิน ๒,๕๐๐ บาท ข่มขืนใจนายทองดีให้ยอมให้เงิน ๒,๕๐๐ บาท และข่มขืนใจนายสำรวยให้ยอมให้เงิน ๓,๐๐๐ บาท ถ้าผู้เสียหายทั้งสามไม่ยอมให้เงินก็จะทำการจับกุมในข้อหามีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตโดยแกล้งสร้างหลักฐานขึ้น ผู้เสียหายทั้งสามจำต้องยอมให้เงินดังกล่าวแก่จำเลยไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๕,๑๔๘, ๓๓๗, ๘๓, ๘๖ กับนับโทษต่อ
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗, ๑๔๘ แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๘ อันเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ จำคุกทั้งสามสำนวน และนับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๔๑/๒๕๒๕ ส่วนจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗ และ ๑๔๘, ๘๖ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๘, ๘๖ อันเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ จำคุกทั้งสามสำนวน นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ ยังมีความผิดตามมาตรา ๑๔๕ อีก จำคุกทั้งสามสำนวน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทั้งสามสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ และลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๘๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกาขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติว่า จำเลยทั้งสองกับพวกพากันไปที่บ้านของนายวิชัย โดยอ้างว่าเป็นตำรวจกองปราบปราม พกปืนบ้าง ถือกิ่งพืชกระท่อมบ้าง และกล่าวหานายวิชัยว่ามีพืชกระท่อมผิดกฎหมายจะจับกุมและทำบันทึกการจับกุม แล้วพูดว่าหากไม่ต้องการถูกจับกุมให้เสียเงิน นายวิชัยไม่มีพืชกระท่อม แต่มีความกลัวต่อการข่มขู่ของจำเลยจึงยอมจ่ายเงินให้จำเลย ๒,๕๐๐ บาท แล้วจำเลยที่ ๑ ก็พกปืนโดยมีจำเลยที่ ๒ ถือพืชใบกระท่อมไปด้วยไปข่มขู่เรียกเอาเงินจากนายทองดี ๒,๕๐๐ บาท และนายสำรวยอีก ๓,๐๐๐ บาท ที่บ้านของบุคคลทั้งสองดังกล่าวซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของนายวิชัยออกไปราว ๑๕ วา และ ๑ เส้นตามลำดับ โดยวิธีข่มขู่ทำนองเดียวกัน แล้วเรียกให้บุคคลทั้งสองไปหาเงินมาส่งมอบให้จำเลยที่บ้านของนายวิชัย เมื่อได้เงินแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกก็กลับไปพร้อมกัน ศาลฎีกาเห็นว่า การข่มขืนให้ผู้เสียหายทั้งสามยอมให้เงินที่จำเลยกระทำไป แม้จะใช้วิธีการอย่างเดียวกัน แต่จำเลยได้กระทำต่อผู้เสียหายต่างรายกัน ต่างสถานที่และต่างเวลากัน แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาแยกการกระทำของตนเป็นหลายกรรมต่างกัน ต้องถือว่าจำเลยกระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ ไม่มีความผิดตามมาตรา ๑๔๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗ และมาตรา ๑๔๘, ๘๖ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๘, ๘๖ อันเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ ให้จำคุกทั้งสามสำนวน ส่วนข้อหาตามมาตรา ๑๔๕ ให้ยกเสีย

Share