คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2515

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บัญชีระบุพยานของจำเลยอ้างพินัยกรรมที่เจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้รักษา ซึ่งเป็นสำเนาพินัยกรรมที่จำเลยรับรองและยื่นไว้โดยมิได้ระบุอ้างต้นฉบับพินัยกรรมที่มีอยู่ที่จำเลย จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะส่งต้นฉบับพินัยกรรมเป็นพยานต่อศาล
วันนัดสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อน จำเลยมิได้นำต้นฉบับพินัยกรรมมาส่งศาลเพิ่งมาส่งในวันสืบพยานโจทก์หลังจากที่สืบพยานจำเลยเสร็จไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีโอกาสซักค้านต้นฉบับพินัยกรรมนี้ซึ่งโจทก์ก็ได้คัดค้านว่าจำเลยมิได้ระบุพยานอ้างเอกสารนี้ไว้และว่าจำเลยมิได้ส่งสำเนาพินัยกรรมให้โจทก์ ดังนี้ ศาลย่อมรับฟังพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพยานไม่ได้
เมื่อต้นฉบับพินัยกรรมมีอยู่ สำเนาพินัยกรรมที่เรียกมาจากเจ้าพนักงานที่ดินย่อมรับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา93 และจะรับฟังพยานบุคคลว่ามีการทำพินัยกรรมก็ไม่ได้เพราะเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดงและไม่ใช่กรณีที่หาต้นฉบับเอกสารไม่ได้ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรสิบเอกแก้วกับนางแก้ว นายคำปันและนางแสงหล้าหรือบุญปั่นตามลำดับจำเลยกับสิบเอกแก้วเป็นบุตรนายหล้า นางจันทร์ นายหล้าวายชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ มีที่ดิน 2 แปลงและเรือน 1 หลัง ราคาประมาณ 30,000 บาท เป็นมรดก สิบเอกแก้ว จำเลยและนางจันทร์มารดาได้ปกครองทรัพย์มรดกร่วมกันตลอดมา จนกระทั่งสิบเอกแก้ววายชนม์ สิบเอกแก้วบิดาโจทก์มีส่วนได้รับมรดก 1 ใน 3 ส่วนโจทก์ขอให้จำเลยแบ่งส่วนของสิบเอกแก้วบิดาโจทก์คิดเป็นเงิน 10,000บาทให้โจทก์ จำเลยไม่ยอม ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน เป็นเงิน 10,000 บาท หากไม่สามารถแบ่งกันได้ให้นำทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาด เอาเงินมาแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสิบเอกแก้วโจทก์จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของสิบเอกแก้ว ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง นายหล้าบิดาทำพินัยกรรมยกให้จำเลยแต่ผู้เดียว จำเลยได้ครอบครองในฐานะเป็นผู้รับมรดกเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกตามฟ้องให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ ให้นำทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

“ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นก็คือ พินัยกรรมของนายหล้าผู้ตายตามเอกสารหมาย ล.6ที่จำเลยส่งศาลรับฟังได้หรือไม่ ตามบัญชีระบุพยานที่จำเลยยื่นต่อศาลลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2512 อันดับ 3 มีว่า “พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 22 เมษายน 2496 (รูปถ่าย) รวมทั้งเรื่องราวขอรับมรดก ฯลฯ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้รักษา” จำเลยหาได้อ้างต้นฉบับพินัยกรรมที่มีอยู่ที่จำเลยไม่ เมื่อศาลมีคำสั่งให้เรียกเอกสารต่าง ๆ มาดังที่จำเลยอ้าง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ส่งสำเนาพินัยกรรมที่จำเลยรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้องที่จำเลยยื่นไว้เมื่อจำเลยขอรับมรดกที่ดินของนายหล้าผู้ตาย ตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งไม่ตรงกับที่จำเลยอ้างในบัญชีระบุพยานว่าเป็นรูปถ่ายในวันที่ 6 มิถุนายน 2512 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลย จำเลยก็มิได้นำต้นฉบับพินัยกรรมมาส่งศาล คงเพียงแต่รับรองสำเนาพินัยกรรมหมาย ล.3 เท่านั้น จำเลยกลับมาส่งต้นฉบับพินัยกรรมหมาย ล.6 ในวันพิจารณาสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2512 ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยมิได้ระบุอ้างต้นฉบับพินัยกรรมไว้ในบัญชีระบุพยาน จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะส่งต้นฉบับพินัยกรรมหมาย ล.6 เป็นพยานต่อศาลได้ และจำเลยส่งพินัยกรรมหมาย ล.6หลังจากที่สืบพยานจำเลยเสร็จสิ้นไปแล้ว โจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านต้นฉบับพินัยกรรมนี้เลยซึ่งโจทก์ก็อ้างอยู่ว่าผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ และโจทก์ได้คัดค้านทันทีที่จำเลยส่งต้นฉบับพินัยกรรมหมาย ล.6 ว่าจำเลยมิได้ระบุพยานอ้างเอกสารฉบับนี้ไว้ ทั้งคัดค้านด้วยว่าจำเลยมิได้ส่งสำเนาพินัยกรรมให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดว่า เอกสารหมาย ล.6 รับฟังไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้สำเนาพินัยกรรมหมาย ล.3 ที่จำเลยอ้างขอให้เรียกจากเจ้าพนักงานที่ดินก็รับฟังไม่ได้ เพราะเป็นเพียงสำเนาไม่ใช่ต้นฉบับต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93 และจะรับฟังพยานบุคคลว่ามีการทำพินัยกรรมก็ไม่ได้ เพราะเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง และไม่ใช่กรณีที่หาต้นฉบับเอกสารไม่ได้ ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 คดีต้องฟังว่านายหล้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเดิมของนายหล้าให้จำเลยแต่ผู้เดียวดังที่จำเลยต่อสู้”

ส่วนประเด็นที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า สิบเอกแก้วได้ร่วมครอบครองทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกตลอดมาโดยยังมิได้แบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

Share