คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2944/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าหุ้นที่สั่งซื้อ จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์มิได้สั่งซื้อหุ้นตามคำสั่งของจำเลย ณ วันที่สั่งซื้อหุ้นที่นำมาฟ้องโจทก์ซื้อภายหลังวันที่จำเลยสั่งซื้อ เมื่อหุ้นที่โจทก์ซื้อ ณ วันที่จำเลยสั่งซื้อ ตรงตามคำสั่ง ส่วนลูกหุ้นที่เกินเป็นการซื้อจากบริษัทเจ้าของหุ้นมิใช่ซื้อจากตลาดหลักทรัพย์ แสดงว่าโจทก์ได้ซื้อหุ้นที่นำมาฟ้องตรงตามคำสั่งของจำเลย ณ วันสั่งซื้อ และเป็นการซื้อหุ้นโดยทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขาย
บริษัทหลักทรัพย์โจทก์อาจซื้อหุ้นเพื่อลูกค้าหลายรายซึ่งสั่งซื้อหุ้นบริษัทเดียวกันและมีราคาเดียวกันได้ และตามระเบียบจะต้องมีการจัดสรรหุ้น ดังนั้นหมายเลขหุ้นที่ลูกค้าสั่งซื้อจึงไม่แน่นอนแล้วแต่การจัดสรรว่าลูกค้าที่สั่งซื้อหุ้นแต่ละรายจะได้หุ้นหมายเลขอะไร
เมื่อรับแจ้งจากโจทก์ว่าซื้อหุ้นให้แล้ว จำเลยมีสิทธิสั่งขายหุ้นได้ไม่เคยเกิดปัญหาว่าสั่งแล้วโจทก์ส่งมอบใบหุ้นให้ผู้ซื้อไม่ได้ เมื่อซื้อหุ้นได้แล้ว ถ้าจำเลยไม่นำเงินไปชำระใน 4 วัน จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 12.5 ต่อปีแต่ถ้าสั่งขายภายใน 4 วัน ก็ไม่ต้องชำระเงินเพราะโจทก์จะนำมาหักกลบลบกัน ถ้ามีกำไร โจทก์ก็จะจ่ายส่วนที่เป็นกำไรให้จำเลย ถ้าขาดทุนจำเลยก็จะต้องนำส่วนที่ขาดทุนไปชำระให้แก่โจทก์ไม่เคยปรากฏในทางปฏิบัติว่าการสั่งซื้อขายหุ้นจะต้องแจ้งหมายเลขหุ้นที่ซื้อหรือขายแต่ประการใด

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,814,751.37 บาทพร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าหุ้นที่สั่งซื้อซึ่งได้แก่หุ้นบริษัทราชาเงินทุน จำกัด 100 หุ้น หุ้นบริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ จำกัด 100 หุ้น หุ้นบริษัทสตรองแพ็ค จำกัด 100 หุ้นและหุ้นบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด จำนวน 5,400 หุ้น จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้เพราะโจทก์มิได้สั่งซื้อหุ้นดังกล่าวตามคำสั่งของจำเลย ณ วันที่สั่งซื้อ หุ้นที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหุ้นที่โจทก์ซื้อภายหลังวันที่จำเลยสั่งซื้อทั้งสิ้น ส่วนจำนวนเงินพร้อมบำเหน็จที่โจทก์นำมาฟ้องภายหลังที่หักกับเงินได้จากการบังคับจำนำแล้วนั้นจำเลยมิได้โต้แย้ง ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่า โจทก์ได้ซื้อหุ้นที่นำมาฟ้อง ณ วันที่จำเลยสั่งซื้อหรือไม่” ฯลฯ

“สำหรับหุ้นบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด ปรากฏตามสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.19 เลขที่ 648880 ว่าโจทก์ซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2521 จำนวน 1,400 หุ้น ราคาหุ้นละ 1,178 บาทเกินจำนวนที่จำเลยสั่งซื้อ 1,300 หุ้น วันที่ 31 ตุลาคม 2521 โจทก์ซื้อตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 648761,862894 จำนวน 400 หุ้น หุ้นละ 1,298 บาท ตรงตามคำสั่ง ณ วันสั่งซื้อ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2521 โจทก์ซื้อตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 838527,316160 รวม 400 หุ้น ราคาหุ้นละ 1,468 บาท เกินจำนวนที่จำเลยสั่งซื้อ 100 หุ้น วันที่ 14 พฤศจิกายน 2521 โจทก์ซื้อตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 836395 จำนวน 250 หุ้น หุ้นละ 1.538 บาท ตรงตามคำสั่ง ณ วันสั่งซื้อ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2521 โจทก์ซื้อตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 745882, 325201, 122024 และ 325408 รวม 1,100 หุ้น หุ้นละ 1,428 บาท ตรงตามคำสั่ง ณ วันสั่งซื้อ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2521 โจทก์ซื้อหุ้นตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 329243 จำนวน 650 หุ้น หุ้นละ 1,428 บาท เกินที่จำเลยสั่งซื้อ 100 หุ้น (ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 สั่งซื้อ 550 หุ้น) เมื่อหักจำนวนหุ้นส่วนที่เกินซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นของลูกค้ารายอื่นออกแล้วแสดงว่าโจทก์ได้ซื้อหุ้นบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด ณ วันที่จำเลยสั่งซื้อ 2,700 หุ้น ตรงตามคำสั่ง ส่วนลูกหุ้นอีก 2,700 หุ้น หุ้นละ 100 บาทเป็นการซื้อจากบริษัทเจ้าของหุ้นมิใช่ซื้อจากตลาดหลักทรัพย์จึงไม่ปรากฏในสัญญาซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ที่จำเลยอ้างเป็นพยานดังนั้นตามเอกสารหมาย ล.19 จึงแสดงว่าโจทก์ได้ซื้อหุ้นที่นำมาฟ้องตรงตามคำสั่งของจำเลย ณ วันสั่งซื้อ และเป็นการซื้อหุ้นโดยทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขาย

ในข้อที่จำเลยอ้างเป็นทำนองว่าหมายเลขหุ้นตามที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามเอกสารหมาย ล.2 และหนังสือสัญญาโอนหุ้นตามเอกสารหมาย ล.6 มิใช่หุ้นที่โจทก์ซื้อตามเอกสาร ล.19 นั้นเป็นข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน และจากคำเบิกความของนายศุกรีย์พยานจำเลยก็ปรากฏว่าโจทก์อาจซื้อหุ้นเพื่อลูกค้าหลายรายซึ่งสั่งซื้อหุ้นบริษัทเดียวกัน และมีราคาเดียวกันได้ และตามระเบียบจะต้องมีการจัดสรรหุ้น ดังนั้นหมายเลขหุ้นที่ลูกค้าสั่งซื้อจึงไม่แน่นอนแล้วแต่การจัดสรรว่าลูกค้าที่สั่งซื้อแต่ละรายจะได้หุ้นหมายเลขอะไร ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 124 นั้น เห็นว่าบทกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องคู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารไม่ยอมนำมาหรือยื่นต้นฉบับเอกสารหรือคู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารทำให้เสียหายทำลายปิดบัง หรือทำด้วยประการใดให้เอกสารนั้นไร้ประโยชน์แต่กรณีของจำเลย จำเลยเป็นฝ่ายอ้างเอกสารจากโจทก์และเอกสารที่อ้างทั้งสิ้นมีถึง 45 รายการ โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งต่อศาลตามเอกสารหมาย ล.1 ว่า ใบหุ้นและตราสารการโอนหุ้นไม่มีที่โจทก์ ส่วนสัญญาซื้อขายตั้งแต่รายการที่ 29 โจทก์ไม่สามารถค้นหาได้เพราะมิได้ระบุวันเดือนปีที่ซื้อขาย โจทก์ขอส่งสัญญาซื้อขาย (ฉบับผู้ซื้อ) เท่าที่จะค้นหาได้มายังศาลคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงหาได้ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าวไม่

อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เบิกความว่า วันรุ่งขึ้นจากวันที่จำเลยสั่งซื้อหุ้น โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าซื้อหุ้นให้ได้ตามคำสั่งของจำเลยทั้งหมด ทั้งจำเลยที่ 2 ยังเบิกความด้วยว่า เมื่อได้รับแจ้งแล้วจำเลยมีสิทธิที่จะสั่งขายหุ้นได้ และไม่เคยเกิดปัญหาว่าเมื่อจำเลยสั่งขายได้แล้วโจทก์ส่งมอบใบหุ้นให้แก่ผู้ซื้อไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยที่ 2 ยังเบิกความถึงวิธีปฏิบัติระหว่างโจทก์และจำเลยว่า เมื่อสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นได้แล้วถ้าจำเลยไม่นำเงินไปชำระใน 4 วัน จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 12.5 ต่อปี แต่ถ้าจำเลยสั่งขายภายใน 4 วันก็ไม่ต้องชำระเงิน เพราะโจทก์จะนำมาหักกลบลบกัน ถ้ามีกำไรโจทก์ก็จะจ่ายส่วนที่เป็นกำไรให้แก่จำเลย ถ้าขาดทุนจำเลยก็จะต้องนำส่วนที่ขาดทุนไปชำระให้แก่โจทก์ ไม่เคยปรากฏในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์และจำเลยว่าการสั่งซื้อขายหุ้นจะต้องแจ้งหมายเลขหุ้นที่ซื้อหรือขายแต่ประการใด การยกหมายเลขหุ้นขึ้นมาอ้างปฏิเสธความรับผิดจึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายบิดพลิ้ว เนื่องจากราคาหุ้นตกต่ำ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าดจทก์ได้ซื้อหุ้นตามคำสั่งของจำเลย ณ วันที่สั่งซื้อ”

พิพากษายืน

Share