คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2552/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียงรายเดียว ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันทำโดยมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันคือ ร่วมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มิใช่ต่างคนต่างรับผิดชำระคนละส่วนเท่า ๆ กัน สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นการทำตราสารในเรื่องเดียวกันและมีลักษณะอย่างเดียวกันไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร มาตรา 108ที่จะต้องปิดแสตมป์แยกกันเป็นรายบุคคลหรือคนละ 10 บาททั้งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ที่กำหนดลักษณะแห่งตราสารท้ายประมวลรัษฎากร ก็ยังกำหนดไว้ว่าสำหรับการค้ำประกันนั้นข้อ 17(ง) ค้ำประกันสำหรับจำนวนเงินเกิน 10,000 บาท ขึ้นไปกำหนดค่าอากรแสตมป์ 10 บาท เมื่อสัญญาค้ำประกันดังกล่าวปิดอากรแสตมป์ 10 บาท ครบถ้วนแล้ว จึงเป็นเอกสารที่ชอบและใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1อย่างลูกหนี้ร่วม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 กำหนดให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นโดยชอบ โจทก์ประกอบธุรกิจธนาคารมีสิทธิ คิดดอกเบี้ยจากผู้มาติดต่อขอสินเชื่อจากธนาคารได้ตามกฎหมายซึ่งกำหนดขึ้นโดยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 ดอกเบี้ยระหว่างจำเลยผิดนัดอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีจึงกำหนดขึ้นตามกฎหมายมิใช่เป็นการกำหนดขึ้นตามที่คู่สัญญาตกลงกัน อันจะมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้จำนวน 218,067.41 บาท และชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน1,213,361.38 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 202,573.80 บาท และจำนวน 1,142,156.53 บาทตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระขอให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1060, 6518, 17068ตำบลเมืองเก่า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 4 จำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่มาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้จำนวน202,573.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่2 มิถุนายน 2538 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 ถึงวันฟ้อง(วันที่ 26 ธันวาคม 2539) โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาชำระหักจากดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าวก่อน ณ วันที่ชำระเงินคือวันที่ 10 ตุลาคม 2539 จำนวน 20,000 บาท และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539จำนวน 15,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนหนี้เบิกเงินเกินบัญชีให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นเงินจำนวน 1,142,156.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (วันฟ้องวันที่ 27 ธันวาคม2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1060, 6518, 17068 ตำบลเมืองเก่าอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10, จ.11
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.4, จ.5 และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.6, จ.7 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามเอกสารหมาย จ.10, จ.11 นอกจากนี้จำเลยที่ 4 ยังคงจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.12,จ.13 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ใช้เอกสารหมาย จ.10, จ.11 เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้หรือไม่เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นสัญญาค้ำประกันการกู้เงินตามเอกสารหมาย จ.4, จ.5 และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6, จ.7 เป็นการค้ำประกันเงินกู้และเงินกู้เบิกเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียงรายเดียวซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ร่วมกันทำโดยมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันคือร่วมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันในการชำระหนี้วงเงินสินเชื่อในหนี้ประเภทเงินกู้และกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10, จ.11เป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม กล่าวคือ มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้รายนี้โดยสิ้นเชิงหาใช่ต่างคนต่างรับผิดชำระคนละส่วนเท่า ๆ กันไม่ จึงเห็นได้ชัดว่าเอกสารหมาย จ.10, จ.11เป็นการทำตราสารในเรื่องเดียวกันและมีลักษณะอย่างเดียวกันจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร มาตรา 108ที่จะต้องปิดแสตมป์แยกกันเป็นรายบุคคลหรือคนละ 10 บาททั้งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ที่กำหนดลักษณะแห่งตราสารท้ายประมวลรัษฎากรก็ยังกำหนดไว้ว่า สำหรับการค้ำประกันนั้นข้อ 17(ง) ค้ำประกันสำหรับจำนวนเงินเกิน 10,000 บาท ขึ้นไปกำหนดค่าอากรแสตมป์ 10 บาท เมื่อเอกสารหมาย จ.10 จ.11ปิดอากรแสตมป์ฉบับละ 10 บาท ครบถ้วนแล้ว จึงเป็นเอกสารที่ชอบและใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ผู้ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1อย่างลูกหนี้ร่วมอุทธรณ์โจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระหว่างจำเลยผิดนัดจากอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 กำหนดให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นโดยชอบ โจทก์ประกอบธุรกิจการธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้มาติดต่อขอสินเชื่อจากธนาคารได้ตามกฎหมายซึ่งกำหนดขึ้นโดยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงกำหนดขึ้นตามกฎหมาย หาใช่เป็นการกำหนดขึ้นตามที่คู่สัญญาตกลงกันเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระให้ถูกต้องสมควรอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ชอบอุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาในเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาถึงดอกเบี้ยในหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีช่วงระหว่างวันถัดจากวันเลิกสัญญา(วันที่ 27 สิงหาคม 2539) ถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งที่ในคำวินิจฉัยก็มิได้ตัดดอกเบี้ยในส่วนนี้นั้น เห็นว่าเป็นข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยซึ่งศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 143 วรรคหนึ่ง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้และชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย สำหรับดอกเบี้ยในหนี้เงินกู้นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปและดอกเบี้ยในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันเลิกสัญญาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์นั้นให้จำเลยทั้งสี่ชำระในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share