แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ระบุชื่อผู้เสียหายในฟ้องผิดพลาดและรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์ระบุชื่อผู้บาดเจ็บผิดพลาดไปบ้างเฉพาะในหน้าหลังส่วนหน้าแรกถูกต้องนั้นถือได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ทั้งจำเลยก็นำสืบต่อสู้โดยอ้างฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุมิได้หลงต่อสู้กับตัวผู้เสียหายแต่อย่างใด ข้อผิดพลาดดังกล่าวจึงไม่ถึงกับทำให้รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน ที่หลบหนีร่วมกันใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิงนายวีระพงษ์ (ที่ถูกคือนายวีระพันธ์)มีนะพงษ์ ผู้เสียหายหลายนัดโดยเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกส่วนสำคัญของร่างกาย ประกอบกับแพทย์ได้ตรวจรักษาร่างกายผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 83 และ 80
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายวีระพันธ์ มีนะพงษ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ลงโทษจำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุโจทก์ร่วมได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถูกที่บริเวณลำคอเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กาย ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมีโจทก์ร่วม และนายยุทธนา อาววรณ์ เป็นประจักษ์พยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2537 เวลาประมาณ22 นาฬิกา โจทก์ร่วมกับพวกประมาณ 20 คน รวมทั้งนายยุทธนาไปรับประทานอาหารที่สวนอาหารตรีมุขและพบกับพวกซึ่งเคยมีเรื่องกันมาก่อนรับประทานอาหารอยู่โต๊ะติดกัน พอเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2537 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ โจทก์ร่วมกับนายยุทธนาออกมาจากร้านโดยนายยุทธนาเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ออกมา หลังจากนั้นโจทก์ร่วมกับนายยุทธนาได้ย้อนกลับไปที่สวนอาหารตรีมุขอีก ขณะมาถึงหน้าศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรีพบจำเลยนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่กับนายนิด เพ็งสุวรรณ โจทก์ร่วมบอกให้นายยุทธนาจอดรถแล้วโจทก์ร่วมลงไปหาจำเลยเพื่อสอบถามว่ามีเรื่องอะไรกันพอโจทก์ร่วมเดินเข้าไปได้ประมาณ 5 เมตร จำเลยได้ชักอาวุธปืนออกมายิงใส่โจทก์ร่วมรวม 3 นัด กระสุนปืนนัดแรกถูกที่คอด้านซ้ายส่วนนัดที่ 2 และที่ 3 ไม่ถูก เมื่อโจทก์ร่วมถูกยิงนัดแรกแล้วได้วิ่งมาขึ้นรถจักรยานยนต์และบอกนายยุทธนาว่าถูกยิงและขอให้พาไปส่งโรงพยาบาลสิงห์บุรีตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมและนายยุทธนาดังกล่าวนอกจากจะเบิกความได้สอดคล้องกันแล้วยังได้ความว่า โจทก์ร่วมและนายยุทธนารู้จักกับจำเลยมาก่อน และก่อนจะเกิดเหตุก็ได้พบกันที่สวนอาหารตรีมุขมาก่อนแล้ว ขณะเกิดเหตุก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมและนายยุทธนาว่า ตรงบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟสปอตไลต์ตามทางแยกของถนนหลายดวง จึงไม่มีเหตุน่าระแวงสงสัยว่าพยานทั้งสองปากดังกล่าวจะจำคนร้ายผิดตัวข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาฆ่าตามฟ้อง สำหรับพยานหลักฐานของจำเลยที่จำเลยนำสืบว่าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2537 จำเลยออกจากสวนอาหารตรีมุขเวลา 23 นาฬิกาเศษแล้วได้กลับบ้านและเข้านอนโดยมิได้ออกจากบ้านไปไหนอีกนั้น เห็นว่ายังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความแตกต่างกันหลายประการ กล่าวคือนายยุทธนาไม่ได้เบิกความว่าเมื่อออกจากสวนอาหารตรีมุขได้แวะไปที่บ้านนายบุญเลิศเนื่องจากนายเต๋าบอกว่านายสุรศักดิ์ถูกทำร้ายโดยไปกับนายยุทธนาแต่ไม่พบนายสุรศักดิ์ดังที่โจทก์ร่วมเบิกความนายยุทธนาไม่ได้เบิกความว่าขณะจะออกจากสวนอาหารตรีมุขรถจักรยานยนต์ของตนน้ำมันใกล้จะหมดจึงไปเปลี่ยนกับรถจักรยานยนต์ของนายปรีชาดังที่โจทก์ร่วมเบิกความ และนายยุทธนาเบิกความว่าไม่เห็นโจทก์ร่วมถือมีดพกขณะออกจากสวนอาหารตรีมุขดังที่โจทก์ร่วมเบิกความว่า โจทก์ร่วมถือมีดดังกล่าวในขณะนั้น จึงไม่น่าเชื่อนั้นเห็นว่า ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อแตกต่างในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมและมิใช่ข้อสาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองรับฟังไม่ได้และที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายเพราะตามฟ้องบรรยายว่านายวีระพงษ์ มีนะพงษ์เป็นผู้เสียหาย แต่ผู้ที่ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมชื่อนายวีระพันธ์ มีนะพงษ์และตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์เอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าผู้บาดเจ็บคือ นายธีระพันธ์ มีนะพงษ์ จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายและทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีนั้น เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 18 เมษายน 2538 ศาลชั้นต้นได้สอบโจทก์และจำเลยแล้วต่างรับว่านายวีระพันธ์ มีนะพงษ์ เป็นผู้เสียหายจึงอนุญาตให้นายวีระพันธ์เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ ดังนั้นการที่โจทก์ระบุชื่อผู้เสียหายในฟ้องผิดพลาดและรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์ระบุชื่อผู้บาดเจ็บผิดพลาดไปบ้างเฉพาะในหน้าหลังส่วนหน้าแรกถูกต้องนั้น เห็นได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ทั้งจำเลยก็นำสืบต่อสู้โดยอ้างฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุ มิได้หลงต่อสู้เกี่ยวกับตัวผู้เสียหายแต่อย่างใด ข้อผิดพลาดดังกล่าวจึงไม่ถึงกับทำให้รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อมาว่าการกระทำของคนร้ายเป็นการป้องกันและบาดแผลที่โจทก์ร่วมได้รับเป็นเพียงการทำร้ายร่างกายมิใช่พยายามฆ่านั้น เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมได้ประทุษร้ายจำเลยก่อนหรือโจทก์ร่วมถือมีดจะเข้าไปทำร้ายจำเลยแต่อย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันส่วนการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นหรือไม่นั้นเห็นว่า จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรง ยิงใส่โจทก์ร่วมอันเป็นอวัยวะสำคัญ จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน