แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ได้มอบการครอบครองให้แก่จำเลยแล้ว ดังนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ซึ่งมีผลผูกพันโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินในฐานะผู้รับแบ่งทรัพย์ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายในเรื่องสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 มาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดพิพาท ฉะนั้นจำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดพิพาทจนกว่าจะได้รับแบ่งทรัพย์ในฐานะผู้มีสิทธิอันชอบธรรมตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน จำเลยที่ 1 ได้ขอดูโฉนดที่ดินดังกล่าวแล้วยึดถือไม่คืนให้โจทก์ โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 1 อ้างว่าอยู่ที่จำเลยที่ 2 โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ยอมคืนให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบคืน ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยให้จำเลยทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายแล้วส่งมอบโฉนดฉบับที่ออกแทนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้โจทก์ดำเนินการเองโดยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินดังกล่าวด้วย โดยโจทก์มีสิทธิครอบครองเพียง 1 ใน 5 ส่วน โจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยรับโฉนดที่ดินดังกล่าวจากสำนักงานที่ดิน จำเลยรับโฉนดมาโดยชอบ และครอบครองโดยชอบเพราะเป็นเจ้าของร่วม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากไม่คืน ให้โจทก์ไปดำเนินการขอออกใบแทนโฉนดฉบับดังกล่าวโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแทนโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งที่ดินโฉนดฉบับพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองและน้องรวม 4 คน ได้คนละส่วนเท่า ๆ กัน โดยถือว่าต่างก็เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดฉบับพิพาทเพียงแต่ยังมิได้แบ่งปันกันตามส่วนสัดที่ตกลงกันในสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น การที่โจทก์ตกลงแบ่งที่ดินตามโฉนดฉบับพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่าโจทก์ได้มอบการครอบครองที่ดินให้จำเลยทั้งสอง ดังนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ซึ่งมีผลผูกพันโจทก์อยู่ เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งในโฉนดฉบับพิพาทในฐานะผู้รับแบ่งทรัพย์อันเป็นการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยชอบ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายในเรื่องสิทธิยึดหน่วงมาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองได้ ตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 241 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ ฉะนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดฉบับพิพาทจนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้รับแบ่งทรัพย์ในฐานะผู้มีสิทธิอันชอบธรรมตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.