คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงพร้อมกับฎีกาภายในกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา ถึงแม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตให้ฎีกาเมื่อล่วงเลยระยะเวลาฎีกาและย้ายไปรับราชการอยู่ที่ศาลอื่นแล้ว ก็เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคมพ.ศ. 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2522 มาตรา 4 และริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ(ที่ถูกมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง), 72 (ที่ถูกมาตรา 72 วรรคหนึ่ง),72 ทวิ (ที่ถูกมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง)ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 371 ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือน รวมสองกระทง จำคุก 2 ปี 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 3 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาคัดค้านฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเคยยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยเพราะคดีต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย การที่จำเลยมายื่นฎีกาซ้ำอีกครึ่งหนึ่งจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นคดีต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย จะต้องให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาก่อนหรือขณะยื่นฎีกา แต่คดีนี้ได้มีการอนุญาตให้ฎีกาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538 อันเป็นเวลาที่ล่วงเลยระยะเวลาฎีกาไปแล้วย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 จำเลยยื่นฎีกาฉบับแรกลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219จึงไม่รับฎีกา วันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2538 ครั้นถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2538 ภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาจำเลยได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงพร้อมกับฎีกา ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะกระทำได้ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องว่าให้ส่งฎีกาพร้อมสำนวนไปให้นายปานนท์ กัจฉปานันท์ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสเพื่อพิจารณาสั่ง วันที่ 7 ธันวาคม 2538นายปานนท์ได้มีคำสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกาของจำเลยว่าอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ดังนี้การที่จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวพร้อมกับฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแล้วถึงแม้นายปานนท์จะสั่งคำร้องเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538เนื่องจากนายปานนท์ย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่น ก็เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งฉบับโดยฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ6,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ2,000 บาทรวมปรับ 8,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share