คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14813/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 “ค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจ การรักษา การพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นเพื่อให้ผลของการประสบอันตรายหรือการเจ็บป่วยบรรเทาหรือหมดสิ้นไป และหมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องใช้ หรือวัตถุที่ใช้แทนหรือช่วยอวัยวะที่ประสบอันตรายด้วย ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไปตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 6 จึงเป็นส่วนหนึ่งของ “ค่ารักษาพยาบาล” ด้วย เนื่องจากถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่จำเป็น
กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 6 มีเจตนารมณ์ให้นายจ้างรับผิดในส่วนของค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป โดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่นายจ้างหรือกองทุนเงินทดแทนรับผิดไม่เกินวันละ 1,300 บาท ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไปรวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์มีสิทธิได้รับ 110,000 บาท แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่ม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและให้จำเลยชำระเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์อีกจำนวน 268,024.70 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
คู่ความแถลงไม่ติดใจประเด็นอื่นนอกจากให้ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยว่า ค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 6 รวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาล ข้อ 2 ถึงข้อ 5 หรือไม่ เท่านั้น
ทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริงกันโดยไม่สืบพยาน
ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานภาค 3 รับฟังข้อเท็จจริงว่า นายสุธน ลูกจ้างโจทก์ ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์ ได้รับบาดเจ็บที่มือขวามีบาดแผลฉีกขาดและกระดูกฝ่ามือเคลื่อน เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลโชคชัย โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลกรุงเทพ ราชสีมา แพทย์ทำการผ่าตัดรักษาหลายครั้ง ต่อมาเกิดภาวะแทรกซ้อนนิ้วก้อยมีเนื้อตาย แพทย์จึงผ่าตัดนิ้วก้อยออกโดยไม่ต้องผ่าตัดรักษากระดูกและไม่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต่ออวัยวะด้วยวิธีจุลศัลยกรรม แล้ววินิจฉัยว่า กรณีเป็นการบาดเจ็บรุนแรงที่จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขหรือรักษาทางยาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20 วัน ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงและเรื้อรัง พ.ศ.2549 ข้อ 2.4 อันเป็นการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรังตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (7) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 110,000 บาท และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล ค่าบริการทั่วไปตามข้อ 6 รวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มอีก โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์จัดให้นายสุธนลูกจ้างโจทก์ที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลที่ดีที่สุดและเร็วที่สุดโดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่าย เป็นการจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือเจ็บป่วยสมดังเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 13 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มตามที่โจทก์ได้จ่ายจริงนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์ขอให้ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยเพียงว่า ค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 รวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 ถึงข้อ 5 หรือไม่ เท่านั้น โดยไม่ติดใจประเด็นอื่นอีก อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 3 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ เห็นว่า กฎกระทรวงกำหนดค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 หรือข้อ 5 คือ การจ่ายค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจ การรักษา การพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น เพื่อให้ผลของการประสบอันตรายหรือการเจ็บป่วยบรรเทาหรือหมดสิ้นไปและหมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องใช้ หรือวัตถุที่ใช้แทนหรือทำหน้าที่แทนหรือช่วยอวัยวะที่ประสบอันตรายด้วย ตามความหมายของ “ค่ารักษาพยาบาล” ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 สำหรับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาลและค่าบริการทั่วไป เป็นส่วนหนึ่งของค่ารักษาพยาบาลด้วย เนื่องจากถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่จำเป็น ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 6 มีเจตนารมณ์ให้นายจ้างรับผิดในส่วนของค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาลและค่าบริการทั่วไป โดยกำหนดให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท เป็นการอธิบายขยายข้อ 2 ถึงข้อ 5 ในการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทั้งนี้หากค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาลและค่าบริการทั่วไปเกินวันละ 1,300 บาท นายจ้างหรือกองทุนเงินทดแทนจะรับผิดชอบจ่ายไม่เกินวันละ 1,300 บาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์มีสิทธิได้รับ 110,000 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่ม ที่ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share