แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า หลังจาก ว.ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรและทายาทของ ว.ได้ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เช่าโรงงานทำพัดลมเพื่อทำเป็นโรงงานทำ ประกอบ และผลิตสินค้า โดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5ขออนุญาตโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เช่าที่ดินพิพาทอีกต่อไปจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ก็ยังคงดื้อดึงใช้โรงงานทำพัดลมบนที่ดินพิพาท ทำ ประกอบ และผลิตสินค้าเรื่อยมา โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เพิกเฉย เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ เป็นคำฟ้องที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงเหตุที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงและเหตุที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งห้าแล้วว่า ว.ผู้เช่าได้ถึงแก่ความตายแล้วและโจทก์ไม่ยินยอมให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินพิพาทอีกต่อไป ซึ่งย่อมจะทำให้จำเลยทั้งห้าสามารถเข้าใจสภาพแห่งข้อหาได้ดี เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ครบถ้วนตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้ ว.จะได้จดทะเบียนเช่าที่ดินพิพาทจาก ร.มีกำหนดเวลา 30 ปีซึ่งมีผลทำให้โจทก์ผู้ซื้อที่ดินพิพาทจาก ร.ต้องยอมให้ ว.เช่าที่ดินพิพาทต่อไปตามสัญญาก็ตาม แต่สัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อ ว.ถึงแก่ความตาย สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่าง ว.กับ ร.ก็เป็นอันสิ้นสุดลง และมีผลทำให้สัญญาเช่าช่วงระหว่างว.กับจำเลยที่ 3 เป็นอันสิ้นสุดลงด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรและทายาทของว.จึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าช่วงจาก ว.ก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปเช่นเดียวกันโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งห้าได้
เกี่ยวกับเรื่องกำหนดเวลาในการเช่านั้น กฎหมายมิได้กำหนดเอาไว้โดยเคร่งครัด และให้สิทธิแก่คู่สัญญาในอันที่จะเลือกเอากำหนดเวลาในการเช่าได้หลายแบบรวมทั้งการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลา 30 ปี ด้วย หรือแม้แต่จะทำกันตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือของผู้เช่าก็สามารถทำได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ว.ได้เลือกเอากำหนดเวลาเช่าเป็นเวลา 30 ปี และไม่มีข้อกำหนดให้สิทธิตามสัญญาเช่าสามารถตกทอดไปยังผู้เป็นทายาทของ ว. หรือไม่มีข้อตกลงที่เป็นการต่างตอบแทนชนิดพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา เช่นนี้ ก็ต้องถือว่าสัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่าง ร.ผู้ให้เช่ากับ ว.เป็นสิทธิเฉพาะตัวของ ว.