แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ป.พ.พ.มาตรา 1021 และ 1022 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่ง ป.วิ.พ.มาตรา 127 อันนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่คดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา153 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 2 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2ที่ถูกเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบถึงความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารเมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วโจทก์ย่อมขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนี้สินของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้สินของจำเลยที่ 2 หรือไม่ และไม่ต้องคำนึงด้วยว่ากรณีของจำเลยที่ 2 ต้องด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9)ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เพราะเมื่อจำเลยที่ 1ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนตามป.พ.พ.มาตรา 1070 และ 1077