คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529-2530/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าชดเชย เป็นบทบัญญัติส่วนหนึ่งของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ที่ใช้บังคับแก่องค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ หาใช่มุ่งหมายจะคุ้มครองเฉพาะแต่ลูกจ้างของเอกชนเท่านั้นไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1568/2523)
จำเลยให้การแต่เพียงว่า “ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ยแก่โจทก์” ดังนี้ไม่แจ้งชัดว่าสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยนั้นมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 ปัญหาเรื่องอายุความตาม มาตรา 166 จึงมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุเกษียณอายุแต่ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การสรุปได้ว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ค่าชดเชยเป็นข้อบัญญัติส่วนหนึ่งของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯใช้บังคับแก่องค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจด้วย ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๖๘/๒๕๒๓ นายฉ้ำนามกระโทก โจทก์ การท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลย หาใช่ว่ามุ่งหมายจะคุ้มครองเฉพาะแต่ลูกจ้างของเอกชนเท่านั้นไม่
จำเลยให้การแต่เพียงว่า “ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ยแก่โจทก์” มิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยของค่าชดเชยที่ค้างส่งนั้นมีกำหนดอายุความ ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๖ ดอกเบี้ยที่ค้างส่งนั้นขาดอายุความแล้ว ปัญหานี้จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน

Share