แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของช. โดยสมรสกันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5และไม่ได้หย่าร้างกัน ช. คงอยู่ร่วมบ้านกับจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ กับโจทก์ ช. ได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม โดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอมคงได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 โดยขณะที่ ช. ได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584 ซึ่งใช้บังคับ อยู่ ขณะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมบัญญัติว่า “ผู้ที่จะรับ บุตรบุญธรรม … ฯลฯ …. ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอม ของคู่สมรสนั้นก่อน เว้นแต่คู่สมรสนั้นวิกลจริตหรือสูญหายไป ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี” เห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์จะคุ้มครองสิทธิ ของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งด้วยเมื่อโจทก์เป็นภริยาคนหนึ่งของ ช. การที่ ช.รับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมจึงจำต้องได้รับความ ยินยอมจากโจทก์ด้วย จะได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวไม่ได้ แม้โจทก์จะมิได้อยู่ร่วมบ้านกับ ช. โจทก์ก็ไม่ใช่บุคคลวิกลจริตหรือสูญหาย ไม่เป็นเหตุให้ ช.รับจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ การจดทะเบียนรับ บุตรบุญธรรมของ ช. ดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2524)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๒ ต่างเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของขุนชำนิบรรณการ โดยทำการสมรสก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม๒๔๗๘ ขุนชำนิบรรณการถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๑ ระหว่างมีชีวิตอยู่เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๑๘ ขุนชำนิบรรณการได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรม โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๒แต่มิได้รับความยินยอมจากโจทก์ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๘๔ ตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมของขุนชำนิบรรณการซึ่งรับจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรม
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์กับขุนชำนิบรรณการเป็นสามีภรรยากันจริงแต่มิได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาโดยแยกกันอยู่และขาดการติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ จนกระทั่งขุนชำนิบรรณการถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๒ แต่ผู้เดียวที่อยู่กินกับขุนชำนิบรรณการตลอดมาการที่ขุนชำนิบรรณการจดทะเบียนรับจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรมไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ขณะที่ขุนชำนิบรรณการจดทะเบียนรับจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรม โจทก์กับจำเลยที่ ๒ เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของขุนชำนิบรรณการ จำเลยที่ ๒ ในฐานะคู่สมรสเพียงคนเดียวให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรมเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๔ แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ ๒ต่างเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของขุนชำนิบรรณการ โดยสมรสกันก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ และไม่ได้หย่าร้างกัน ขณะที่ขุนชำนิบรรณการรับจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรมนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ ก่อนตรวจชำระใหม่ ได้บัญญัติเรื่องการรับบุตรบุญธรรมไว้ในมาตรา ๑๕๘๔ ว่า “ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม ฯลฯ ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้ความรับยินยอมของคู่สมรสนั้นก่อนเว้นแต่คู่สมรสนั้นวิกลจริตหรือสูญหายไป ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี” แม้การรับบุตรบุญธรรมจะเป็นเรื่องความสมัครใจของคู่สมรสแต่ละฝ่าย ฝ่ายใดรับบุตรบุญธรรมก็เกิดความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสฝ่ายนั้นกับบุตรบุญธรรมโดยเฉพาะแต่กฎหมายก็ประสงค์จะคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งด้วยเมื่อโจทก์เป็นภริยาคนหนึ่งของขุนชำนิบรรณการการที่ขุนชำนิบรรณการรับจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรมจึงจำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ด้วย จะได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๒ แต่เพียงผู้เดียวหาได้ไม่ ถึงแม้โจทก์จะมิได้อยู่ร่วมบ้านกับขุนชำนิบรรณการ โจทก์ก็มิใช่บุคคลวิกลจริตหรือสูญหายไปย่อมไม่เป็นเหตุให้ ขุนชำนิบรรณการรับจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรมได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ ดังนี้ การที่ขุนชำนิบรรณการจดทะเบียนรับจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรม โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสด้วย จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมของขุนชำนิบรรณการซึ่งรับจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรบุญธรรม