แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีชั้นร้องขัดทรัพย์ ปรากฏว่าเรือนพิพาทซึ่งผู้ร้องได้ร้องขัดทรัพย์เข้ามาราคา 3,000 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยฟังว่าเรือนพิพาทเป็นของจำเลย คู่ความจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงนำยึดทรัพย์จำเลยเพื่อขายทอดตลาดนางสาวกมล เลาหวานิช ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าเรือนและรถไถนาเป็นของตน โดยจำเลยตีใช้หนี้ ในที่สุดโจทก์จำเลยและนางสาวกมลเลาหวานิช ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้เรือนเป็นของโจทก์จำเลยและบริวารจะออกไปจากเรือนใน ๑๕ วัน โจทก์ยอมปลดหนี้ให้จำเลย ๕,๓๐๐ บาท และให้รถไถนาเป็นของนางสาวกมล เลาหวานิชต่อมาผู้ร้องทั้งสามในคดีนี้ซึ่งเป็นบุตร บุตรสะใภ้ และภรรยาจำเลยไม่ยอมออกจากเรือนศาลจึงออกหมายจับมากักขัง ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องว่าเรือนที่ผู้ร้องทั้งสามอยู่ คือ เรือนเลขที่ ๕๖/๑ เป็นของผู้ร้องที่ ๑ ส่วนเรือนของจำเลยที่ถูกยึดคือเรือนเลขที่ ๕๖ ในวันนัดพร้อมโจทก์แถลงว่าเรือนเลขที่ ๕๖/๑ ก็คือเรือนเลขที่ ๕๖ ซึ่งถูกยึดนั่นเอง แต่ผู้ร้องได้ไปขอเปลี่ยนเลขบ้านใหม่ ศาลชั้นต้นเห็นว่าเมื่อโจทก์ยืนยันว่าเป็นเรือนของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ที่โจทก์นำยึด แล้วกะประเด็นให้โจทก์นำสืบก่อน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เรือนพิพาทเป็นของจำเลย ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องที่ ๑ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าเรือนพิพาทซึ่งผู้ร้องได้ร้องขัดทรัพย์เข้ามานี้ราคา ๓,๐๐๐ บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นแล้วคู่ความจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘
พิพากษาให้ยกฎีกาของผู้ร้องขัดทรัพย์