แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อที่พิพาทภายหลังจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางใหญ่ฯ มีผลใช้บังคับถึง 7 เดือนเศษ ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับที่พิพาทจะมีราคาซื้อขายในท้องตลาดอย่างไรโจทก์หาได้นำสืบไม่ และที่โจทก์ซื้อที่พิพาทก็เพราะคาดว่าที่ดินที่เหลือจากถูกเวนคืนจะมีราคาสูงขึ้นคุ้มกับที่ลงทุนซื้อ ราคาที่โจทก์ซื้อจึงไม่ใช่ราคาของที่พิพาทที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ การกำหนดค่าทดแทนในการเวนคืนที่พิพาทให้แก่โจทก์จึงต้องถือตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ในการเวนคืนที่พิพาท จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ต่ำไป ขอให้บังคับจำเลยชำระส่วนที่กำหนดต่ำไปนั้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ได้กำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นธรรมแล้วโดยยึดถือบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่ทั้งสองฝ่ายมิได้นำสืบโต้แย้งกันคงฟังยุติได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 8072 ตำบลบางรักใหญ่(บางไผ่) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน9 ตารางวา เดิมเป็นของนางสาวจ่าง ด้วงทองอยู่ กับพวกรวม 3 คนนางสาวจ่างกับพวกขายให้โจทก์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2525 ที่ดินโฉนดนี้อยู่ในเขตเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2524 เพื่อดำเนินงานตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และถนนบริเวณจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดปทุมธานีซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2524จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่อยู่ในเขตเวนคืนเนื้อที่ 3 งาน 43ตารางวา ให้โจทก์ตารางวาละ 125 บาท เท่ากับราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ซึ่งประกาศใช้อยู่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนดังกล่าวข้างต้นมีผลใช้บังคับ โดยกำหนดให้เป็นเงินทั้งสิ้น 42,875 บาท และจ่ายให้แก่โจทก์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจ่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2527 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่9 กรกฎาคม 2528 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เป็นธรรมแล้วหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เกี่ยวกับค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางหลวงนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76บัญญัติว่า เงินทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้ (1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้นที่โจทก์อ้างว่าราคาปานกลางของที่ดินพิพาทตามที่ทางราชการกำหนดและตามความเป็นจริงราคาตารางวาละ 500 บาท มิใช่ตารางวาละ 125 บาทดังที่จำเลยกำหนดให้โจทก์นั้น โจทก์นำสืบฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนางสาวจ่างกับพวก ในราคาทั้งสิ้นเป็นเงิน350,000 บาท หรือเท่ากับตารางวาละประมาณ 500 บาท แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทภายหลังจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทองและอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2524 มีผลใช้บังคับเป็นเวลาถึง 7 เดือนเศษ ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับที่พิพาทจะมีราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดอย่างไรโจทก์หาได้นำสืบไม่ ทั้งยังได้ความจากตัวโจทก์เองว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทโดยรู้ว่าเป็นที่ดินอยู่ในเขตที่จะต้องถูกเวนคืน แต่โจทก์ก็เลี่ยงซื้อโดยคาดว่าที่ดินที่เหลือจากถูกเวนคืนจะมีราคาสูงขึ้นคุ้มกับที่ลงทุนซื้อ ราคาที่โจทก์ซื้อจึงมิใช่ราคาของที่พิพาทที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ตามรายงานเผชิญสืบของศาลชั้นต้นปรากฏว่าที่พิพาทอยู่ห่างถนนสายบางกรวย – บางบัวทองถึง 3 กิโลเมตร จำเลยมีนายวราวุฒิ ทรัพย์สิน นายช่างโยธาผู้ได้รับมอบหมายจากทางการให้สำรวจแนวเขตที่ดินที่จะต้องถูกเวนคืนในการทำถนนสายนี้เป็นพยานเบิกความว่า ที่พิพาทเป็นที่สวน ยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา อยู่ห่างจากตัวอำเภอบางบัวทองประมาณ 7 กิโลเมตรการคมนาคมไม่สะดวกซอยเข้าวัดบางรักใหญ่ที่โจทก์อ้างเป็นทางอยู่ในที่ดินเอกชน ไม่ใช่ทางสาธารณะ จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เต็มเนื้อที่ไม่ได้คิดหักค่าทางในที่พิพาทซึ่งอยู่ในแนวเขตที่ดินที่จะต้องถุกเวนคืนออก พยานได้รับมอบหมายให้สำรวจแนวเขตที่ดินเมื่อปลายปี 2524 ก่อนทำการสำรวจที่พิพาทมีราคาตารางวาละ 100 บาทเศษเท่านั้น ดังนี้ที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 125 บาท เท่ากับราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ซึ่งประกาศใช้อยู่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2524 ใช้บังคับ จึงเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีกไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.