แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยให้จำเลยลึกจากการเป็นพระภิกษุจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะสงฆ์การยื่นอุทธรณ์จะกระทำโดยชอบหรือไม่ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยซึ่งได้ลึกจากการเป็นพระภิกษุไปแล้วกลับมาเป็นพระภิกษุใหม่อีกการที่จำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุและไม่ยอมออกไปจากวัดตามคำสั่งของเจ้าอาวาสวัดดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา208,368วรรคแรกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ.2505มาตรา38(1),45
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้แต่งกายและใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าจำเลยเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา โดยจำเลยมิได้เป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าจำเลยเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา และจำเลยซึ่งเข้าไปพักอาศัยอยู่ในวัดสุงสุมารมหันตาราม (วัดจระเข้ใหญ่) ได้ทราบคำสั่งของเจ้าอาวาสในฐานะเจ้าพนักงานที่สั่งจำเลยซึ่งเป็นคฤหัสถ์และไม่ได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสไม่ให้เข้าไปอยู่อาศัยในวัด จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยยังคงอาศัยอยู่ในวัดสุงสามารมหันตารามต่อไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208, 368, 91พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 38(1), 45
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยอัยการพิเศษประจำเขต 7 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ปรับ 2,000 บาท กระทงหนึ่งและมีความผิดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2504(ที่ถูก พ.ศ. 2505) มาตรา 38(1), 45 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคแรก ปรับ 500 บาท อีกกระทงหนึ่ง รวมปรับ2,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมจำเลยบวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2534 คณะสงห์ผู้พิจารณาชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยให้จำเลยสึกจากการเป็นพระภิกษุตามคำวินิจฉัยชั้นต้นเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาวันเวลาเกิดเหตุจำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุและเข้าพักอาศัยอยู่ในวัดสุงสุมารมหันตารามพระอธิการประภาส ปัชโชโต เจ้าอาวาสวัดดังกล่าวสั่งจำเลยให้ออกไปจากวัดจำเลยไม่ออกไปจากวัดตามคำสั่ง ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า หลังจากที่คณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นต้นได้อ่านคำวินิจฉัยชั้นต้นตามเอกสารหมาย จ.6 ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2534 แล้ว จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว แต่คณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นต้นอีกโดยส่งทางไปรษณีย์ แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งไม่รับอุทธรณ์จำเลยอีก ซึ่งหากมีการรับอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว จำเลยก็คงไม่ต้องสึกจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดนั้น เห็นว่า การยื่นอุทธรณ์ต่อคณะสงฆ์ของจำเลยดังกล่าวจะเป็นการยื่นอุทธรณ์โดยชอบหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยซึ่งได้สึกจากการเป็นพระภิกษุไปแล้วดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นกลับมาเป็นพระภิกษุใหม่อีกและด้วยเหตุดังกล่าวจึงเห็นว่าการที่จำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุ และไม่ยอมออกไปจากวัดสุงสุมารมหันตามรามตามคำสั่งของพระอธิการประกาศเจ้าอาวาสวัดดังกล่าว เป็นการกระทำที่เป็นความผิดจริงตามฟ้อง
พิพากษายืน