แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นองค์การปกครองท้องถิ่นเพื่อสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม2522 ก็ไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ซึ่งไม่ใช้บังคับกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดินพิพาทเริ่มเป็นที่ราชพัสดุเมื่อพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2523 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2523 ซึ่งเป็นไปโดยผลของพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 โดยไม่จำต้องให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้กระทรวงการคลังจำเลยที่ 2 ก่อน การเริ่มนับระยะเวลายื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุคืนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5(พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ข้อ 3 จึงต้องเริ่มนับเมื่อที่ดินพิพาทมีฐานะเป็นที่ราชพัสดุ และทางราชการมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้นตามวัตถุประสงค์ของผู้ยกให้ภายในสิบปีคือภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2533 โจทก์จึงมีสิทธิยื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 โจทก์โอนสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 เล่ม 6 หน้า 110 สารบบเลขที่ 963หมู่ที่ 1(3) ตำบลหันคา อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เนื้อที่7 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาประจำหมู่บ้าน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ก่อสร้างสถานศึกษาเพราะไม่มีงบประมาณต่อมาปี 2528 จำเลยที่ 1 นำที่ดินซึ่งโจทก์อุทิศให้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้กระทรวงการคลังจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2ไม่มีหน้าที่และงบประมาณสำหรับสร้างสถานศึกษาระดับประถมศึกษาจึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เจตนาของโจทก์ผู้อุทิศให้ ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 เล่ม 6 หน้า 110 สารบบเลขที่ 963 หมู่ที่ 1(3)ตำบลหันคา อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน20 ตารางวา ให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2หรือของจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1เพราะมีพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2523 ที่ดินดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินดังกล่าวทางราชการยังไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่ราชพัสดุที่มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2534 โจทก์ขอที่ดินคืนจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท โดยอ้างว่าทางราชการไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ยกให้ โจทก์ยื่นขอที่ราชพัสดุคืนเกินกำหนดเวลาที่โจทก์มีสิทธิขอคืน เพราะโจทก์มีสิทธิขอคืนที่ดินพิพาทได้ภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2533 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุพ.ศ. 2518 เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องการเริ่มนับระยะเวลาในการขอที่ราชพัสดุคืนให้แก่ผู้ยกให้ การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองแล้ว โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาประจำหมู่บ้านแต่ยังไม่มีการก่อสร้างโรงเรียนในที่ดินดังกล่าว ก็มีพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการพ.ศ. 2523 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2523บรรดาทรัพย์สินรวมทั้งกิจการต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 จึงโอนไปยังสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเป็นผลให้ที่ดินพิพาทต้องโอนไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ซึ่งต้องให้จำเลยที่ 2 เข้าถือกรรมสิทธิ์ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่23 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 2 ยังมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามวัตถุประสงค์ที่โจทก์ยกให้แต่อย่างใด ที่ดินพิพาทจึงยังไม่มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ โจทก์ยื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุแปลงพิพาทคืนเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2534 (ที่ถูกเป็นวันที่ 8 เมษายน 2534)
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุนับแต่พระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการพ.ศ. 2523 มีผลบังคับคือวันที่ 1 ตุลาคม 2523 และมีผลสมบูรณ์เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่25 มีนาคม 2528 (ที่ถูกเป็นวันที่ 23 พฤษภาคม 2528) การยื่นเรื่องราวของคืนที่ดินพิพาทของโจทก์จึงยื่นภายในกำหนดระยะเวลาขอคืนที่ราชพัสดุนั้น เห็นว่า กฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525)ออกตามความในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ข้อ 3บัญญัติว่า “การโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุคืนให้แก่ผู้ยกให้จะกระทำได้เมื่อที่ราชพัสดุนั้นมิใช่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะและทางราชการมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้นตามวัตถุประสงค์ของผู้ยกให้ภายในสิบปีนับแต่วันจดทะเบียนยกให้ และผู้ยกให้เป็นผู้ยื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว”และตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 วรรคท้ายบัญญัติว่า “อสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลและขององค์การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ” ดังนั้นแม้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นองค์การปกครองท้องถิ่นเพื่อสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาประจำหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 ก็ยังไม่ถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอคืนตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ดินพิพาทเริ่มเป็นที่ราชพัสดุเมื่อพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2523 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2523 ซึ่งเป็นไปโดยผลของพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 โดยไม่จำต้องให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ก่อน การเริ่มนับระยะเวลายื่นเรื่องราวของที่ราชพัสดุคืนตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุพ.ศ. 2518 ข้อ 3 ดังกล่าว จึงต้องเริ่มนับเมื่อที่ดินพิพาทมีฐานะเป็นที่ราชพัสดุ คือวันที่ 1 ตุลาคม 2523 เมื่อทางราชการมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้นตามวัตถุประสงค์ของผู้ยกให้ภายในสิบปีคือภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2533 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ยกให้จึงมีสิทธิยื่นเรื่องราวที่ราชพัสดุคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว กล่าวคือโจทก์มีสิทธิยื่นได้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2534 โจทก์ยื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุคืนวันที่ 8 เมษายน 2534 จึงไม่เกิดกำหนดระยะเวลายื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุคืนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมิได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ภายในสิบปี และที่ดินพิพาทยังไม่มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอที่ราชพัสดุคืนได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุคืนเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
แต่ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมโอนที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังมาว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 โอนสิทธิครอบครองที่ดินน.ส.3 เล่ม 6 หน้า 110 สารบบเลขที่ 963 หมู่ที่ 1(3) ตำบลหันคาอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวาคืนให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2