แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อที่ดินมาดำเนินการแบ่งแยกโฉนดเป็น 9 โฉนดแล้วปลูกสร้างตึกแถวบนที่ดินที่แบ่งแยก จากนั้นทยอยขายไปจนหมด เช่นนี้เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาเพื่อมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการค้าในประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์จึงต้องนำรายรับมาเสียภาษีการค้า และต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินและตึกแถวนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย โจทก์มิได้ขายที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างไปในราคาที่ปรากฏตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน เมื่อราคาที่ประเมินโดยใช้หลักเกณฑ์ของกรมโยธาธิการสามารถแสดงถึงราคาที่โจทก์ควรจะขายที่แท้จริงได้ ดังนั้น ราคาขายที่ดินที่เจ้าพนักงานประเมินใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อราคาที่ดินและอาคารที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดเป็นราคาที่โจทก์ควรจะขายที่แท้จริงได้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์โดยมีค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าราคาที่พึงได้รับตามปกติเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดราคาขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามราคาที่โจทก์พึงได้รับจากการขายตามปกติได้ ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น และราคาที่โจทก์ควรจะขายที่แท้จริงได้นั้นถือได้ว่าราคาดังกล่าวเป็นจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามความหมายในมาตรา 49 ทวิ โจทก์จึงต้องนำรายรับดังกล่าวไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ครึ่งปี) หากมีเงินได้ตามมาตรา 40(8) ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนเมื่อยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมิน ย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกและประเมินภาษีได้ตามมาตรา 19 และ 20แห่งประมวลรัษฎากร เงินที่โจทก์ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณและชำระภาษีให้ถูกต้อง เมื่อโจทก์มิได้นำมารวมคำนวณเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียก และประเมินภาษีที่ต้องชำระได้ตามมาตรา 19 และมาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์มีหน้าที่ต้องนำรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์มาเสียภาษีการค้าและต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและมิได้นำเงินได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โจทก์จึงต้องเสียภาษีที่ชำระขาดพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับให้คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้นเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ประจำปีภาษี 2530 ให้แก้ไขการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2530 (ครึ่งปี)เป็นให้โจทก์ชำระภาษี 4,881.31 บาท เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 14,643.94 บาท และให้แก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้า เป็นให้โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าเป็นเงิน 84,560 บาทเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม กับภาษีบำรุงเทศบาล 25,368 บาทรวม 279,048 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 20933 ตำบลตลาดขวัญอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี 2527 ต่อมาในปี 2528โจทก์ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น 9 โฉนด โจทก์ได้ปลูกสร้างอาคารรวม 7 ห้อง ในปี 2530 โจทก์ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปรวม 5 แปลง โดยโจทก์มิได้จดทะเบียนการค้าและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีของปีภาษี 2530 และการยื่นแบบแสดงรายการประจำปีภาษี 2530โจทก์มิได้นำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมารวมกับเงินได้จากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าของโจทก์เพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีดังกล่าว
ปัญหาอุทธรณ์โจทก์ประการแรกมีว่า การที่โจทก์ซื้อที่ดินแล้วนำมาปลูกสร้างอาคารนั้น โจทก์ได้กระทำโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์นำสืบอ้างว่าโจทก์ได้นำที่ดินที่ซื้อมาไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้เพื่อนำเงินมาพัฒนาที่ดินและนำมาชำระค่าก่อสร้าง แต่พยานหลักฐานที่นำสืบมากลับปรากฏว่าโจทก์นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ของนายเลิศพงษ์ เลิศลักขณากุล ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินที่โจทก์เข้าหุ้นกับพวกคนใดคนหนึ่งแต่ประการใด ทำให้ข้อที่โจทก์นำสืบมาไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือนอกจากนี้ พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเป็นแปลง ๆ ถึง 9 แปลง ในการร่วมหุ้นกับนายไพศาลก็เป็นข้อพิรุธที่โจทก์อ้างว่าเพราะโจทก์มีบุตร 5 คน จึงมีเจตนายกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แต่ละคนเป็นสัดส่วนนั้น หากเป็นความจริงดังที่โจทก์อ้างมา โจทก์ก็น่าจะทำการแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วน5 ห้อง ที่จะตกเป็นของโจทก์เมื่อนายไพศาลผู้ร่วมหุ้นทำการก่อสร้างเสร็จแล้วเท่านั้นไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องแบ่งแยกที่ดินในส่วนที่จะตกเป็นของนายไพศาลเป็นแปลงย่อยอีก 4 แปลงให้นายไพศาลด้วย ทั้งโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมมากขึ้นในการแบ่งแยกจำนวนมากแปลงซึ่งเป็นการขัดด้วยเหตุผล ทำให้ไม่น่าเชื่อถือแล้วยังเป็นการเจือสมกับข้อนำสืบของนายสมศักดิ์อนันทวัฒน์ พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ทำการตรวจสอบการเสียภาษีโจทก์ที่เบิกความยืนยันว่า พฤติการณ์ของโจทก์เช่นว่านี้แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาทำการค้าที่ดิน เนื่องจากหากโจทก์ประสงค์จะสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยคงไม่ปลูกสร้างอาคารถึง 9 ห้อง ประกอบกับโจทก์เคยมาให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตามหนังสือเชิญพบว่า โจทก์ได้ร่วมโครงการขวัญสุขนิเวศน์กับเพื่อน ๆ พยานจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานโจทก์ที่นำสืบมาเพียงลอย ๆ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาเพื่อมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการค้าในประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์จึงต้องนำรายรับมาเสียภาษีการค้า และต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินและตึกแถวนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปคือราคาขายที่ดินที่เจ้าพนักงานประเมินใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงไม่น่าเชื่อว่า โจทก์ขายที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างไปในราคาที่ปรากฏตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน เมื่อราคาที่เจ้าพนักงานประเมินโดยใช้หลักเกณฑ์ของกรมโยธาธิการสามารถแสดงถึงราคาที่โจทก์ควรจะขายที่แท้จริงได้ ดังนั้นราคาขายที่ดินที่เจ้าพนักงานประเมินใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าราคาที่ดินและอาคารที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดเป็นราคาที่โจทก์ควรจะขายที่แท้จริงได้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์โดยมีค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าราคาที่พึงได้รับตามปกติ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดราคาขายอสังหาริมทรัพย์นั้นตามราคาที่โจทก์พึงได้รับจากการขายตามปกติได้ ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น และราคาที่โจทก์ควรจะขายที่แท้จริงได้นั้นถือได้ว่าราคาดังกล่าวเป็นจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามความหมายในมาตรา 49 ทวิ โจทก์จึงต้องนำรายรับดังกล่าวไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ข้อต่อไปคือ การเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ครึ่งปี) ตามมาตรา 56 ทวิแห่งประมวลรัษฎากรเป็นการเรียกเก็บก่อนถึงกำหนดเวลาเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจออกหมายเรียกและประเมินภาษีนั้น เห็นว่า กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ครึ่งปี) หากมีเงินได้ตามมาตรา 40(8) ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนเมื่อยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกและประเมินภาษีได้ตามมาตรา 19 และ 20 แห่งประมวลรัษฎากร เงินที่โจทก์ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณและชำระภาษีให้ถูกต้อง เมื่อโจทก์มิได้นำมารวมคำนวณ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกและประเมินภาษีที่ต้องชำระได้ ตามมาตรา 19 และมาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากร
ส่วนที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า รายรับจากการขายเครื่องไฟฟ้าโจทก์ไม่มีสมุดบัญชีและเอกสารมาให้ตรวจสอบ จึงต้องประเมินรายรับตามคำให้การของโจทก์นั้น เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2535 โจทก์ได้มาพบเจ้าพนักงานตรวจสอบและได้ให้การว่าในปี 2530 มีรายได้จากการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าประมาณวันละ 1,500 บาท ถึง2,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงเฉลี่ยเป็นรายได้ของโจทก์วันละ 1,750 บาท นั้น เห็นว่า ยอดเงินดังกล่าวโจทก์เป็นผู้ให้ถ้อยคำออกมาเอง เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินรายรับตามคำให้การดังกล่าวได้ ส่วนที่นางสุปราณี มโนรถกุล ภริยาโจทก์เคยให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ว่ามียอดรายรับโดยประมาณ 1,000 บาท ต่อวัน ตามแบบสำรวจกิจการทั่วไปนั้นข้อมูลดังกล่าวเกิดจากการออกสำรวจโดยทั่วไปของเจ้าหน้าที่มิใช่คำให้การในชั้นตรวจสอบ จึงไม่สามารถนำมาหักล้างกับคำให้การในชั้นตรวจสอบได้
ปัญหาข้อสุดท้ายที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ก็คือมีเหตุอันควรงดหรือลดเบี้ยปรับให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องนำรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์มาเสียภาษีการค้าและต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและมิได้นำเงินได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โจทก์จึงต้องเสียภาษีที่ชำระขาดพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับให้คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้นเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับแต่อย่างใด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์