คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2478/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์คันที่ อ. ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วมโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่ออ.จะต้องรับผิดเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าอ. จะต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน แม้สัญญาประกันภัยระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยกับอ. ผู้เอาประกัน มีนิติสัมพันธ์กันอย่างไร และจำเลยขับรถยนต์คันที่ อ. เอาประกันภัยไว้ในฐานะอะไร ถือไม่ได้ว่าจำเลยขับรถโดยความยินยอมจาก อ. ดังนั้น โจทก์จะถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญาประกันภัยดังกล่าวหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน7ง-0237 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2530 จำเลยขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม – 3659 นนทบุรี ไปตามถนนรัชดาภิเษกมุ่งหน้าไปเขตห้วยขวาง ด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเมื่อถึงสี่แยกถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนลาดพร้าว จำเลยไม่หยุดรถเมื่อมีสัญญาณไฟแดงในขณะที่นายไกรสร แย้มอรุณ ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7ง – 0237 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ไปตามถนนลาดพร้าว มุ่งตรงไปทางสวนจตุจักร รถที่จำเลยขับจึงพุ่งชนรถของโจทก์ ทำให้รถของโจทก์เสียหาย ค่าซ่อมรถจำนวน21,770 บาท ซึ่งจำเลยตกลงจะชำระให้แต่ไม่ชำระ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 300 บาท เป็นเวลา 19 วัน เป็นเงินจำนวน 5,700 บาทรถโจทก์เสื่อมสภาพคิดเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดจนกว่าชำระเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7ง – 0237 กรุงเทพมหานคร จึงไม่มีอำนาจฟ้องเหตุคดีนี้เกิดเพราะผู้ขับรถยนต์ของโจทก์เป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียวโดยขับรถด้วยความเร็วและฝ่าสัญญาไฟแดง จึงเฉี่ยวชนกับรถที่จำเลยขับ จำเลยไม่เคยทำหนังสือยินยอมว่าจะชำระเงินให้โจทก์ค่าเสียหายไม่เกิน 2,500 บาท ค่าขาดประโยชน์ไม่เกิน 200 บาทฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียก บริษัท ร.ส.พ.ประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การทำนองเดียวกับจำเลย แต่เพิ่มเติมว่า เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม – 3659 นนทบุรี ซึ่งมีนางสาวอุไร ลาภเจริญจริงเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยร่วมต้องรับผิดก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดเท่านั้น แต่จำเลยไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย และไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม – 3659นนทบุรี จำเลยร่วมจึงไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่โจทก์ ทั้งจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับนางสาวอุไร หลังเกิดเหตุโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 25,770 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยร่วมนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยฎีกาโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์คันที่นางสาวอุไร ลาภเจริญจริงได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วม เมื่อจำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 หรือไม่ นั้น เห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ คำให้การของจำเลย คำให้การของจำเลยร่วมและทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวทั้งหมด ไม่มีปรากฏเลยว่าจำเลยกับนางสาวอุไรมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง และจำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะอะไร อันจะทำให้นางสาวอุไรต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลย จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อนางสาวอุไรต้องรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านางสาวอุไรจะต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมในฐานะผู้ประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกันและที่โจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมายล.2 ในสัญญาหมวดที่ 2 ข้อ 2.8 ระบุว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง แม้สัญญาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวทำขึ้นระหว่างนางสาวอุไรกับจำเลยร่วมก็ตาม แต่จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยแล้วเกิดเหตุคดีนี้ ต้องถือว่าจำเลยขับรถโดยได้รับความยินยอมจากนางสาวอุไร จำเลยจึงมีฐานะเสมือนผู้เอาประกันภัยเองตามข้อสัญญาดังกล่าว จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ นั้นเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับนางสาวอุไรมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรและจำเลยขับรถยนต์คันที่นางสาวอุไรเอาประกันภัยไว้ในฐานะอะไร จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะแสดงให้เห็นว่านางสาวอุไรยินยอมให้จำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าจำเลยขับรถโดยได้รับความยินยอมจากนางสาวอุไร ดังนั้นโจทก์จะถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญาประกันภัยดังกล่าวดังที่โจทก์อ้างหาได้ไม่และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีการายละเอียดอื่นของโจทก์ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์และไม่ทำให้โจทก์ชนะคดีต่อจำเลยร่วมได้อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share